ปฏิจฺจสมุปฺปาทสงฺเขปกถา



    ทำอย่างไรเราจะพ้นจากอำนาจแห่งปฏิจจสมุปบาท หรือพ้นจากสังสารวัฏฏทุกข์เล่า ในทางปฏิบัตินั้น เบื้องต้นพึงศึกษาให้เข้าใจในปฏิจจสมุปบาท พอเป็นแนวทางก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อตัดปฏิจจสมุปบาทนั้น โดยนัยมีอาทิดังต่อไปนี้
    ปฏิจจสมุปบาทนั้น
    มันพาคนเราให้หมุนวนไปได้อย่างไร
    พึงเห็นตัวอย่าง เช่น จักขุประสาทกับรูปารมณ์กระทบกันเข้ามันเกิดจักขุวิญญาณขึ้น จักขุประสาทคือ ประสาททางตา รูปารมณ์ คือ รูปที่เป็นสีต่าง ๆ เมื่อกระทบกันเข้าแล้ว มันก็เกิดอาการเป็นรูปขึ้นมา อาการเห็นรูปนั้นเรียกว่า จักขุวิญญาณ จิตเมื่อเกิดอาการเห็นรูปขึ้นแล้ว มันก็เกิดชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง หรือยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เมื่อเป็นดังนี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาทหมุนไปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสสอน ให้ตัดปฏิจจสมุปบาทเสียให้ขาด อย่าปล่อยให้มันพาหมุนไปตามอำนาจเช่นนั้น
    จะตัดอย่างไร ?
    คือ เมื่อเห็นรูปทางตา ได้แก่เมื่อจักขุประสาทกับรูปารมณ์กระทบกันเข้า จักขุวิญญาณเกิดขึ้น แล้วผัสสะก็เกิดขึ้น (เรียกเต็มภูมิว่า จักขุสัมผัส) เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว เวทนา คือความยินดีหรือความยินร้ายก็เกิดขึ้น เมื่อปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมดาอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทหมุนไป ส่วนวิธีที่จะปฏิบัติ มิให้ ปฏิจจสมุปบาทพาหมุนไปคือตัดปฏิจจสมุปบาทให้ขาดนั้น ขณะที่ผัสสะเกิดขึ้น ต้องตัดตรงที่ผัสสะให้ขาด อย่าให้มันต่อไปถึงเวทนา โดยใช้สติกำหนให้เพียงแค่เห็นเท่านั้น อย่าให้มันเลยไปเป็นว่าเราเห็น คืออย่าให้เห็นเป็นหญิงเป็นชาย เป็นดีเป็นไม่ดี เป็นชอบเป็นไม่ชอบ พึงกำหนดพิจารณาตัดให้ขาดลงไปที่ตรงผัสสะนี้บ่อย ๆ โดยทำนองนี้
    ความจริง จักขุประสาทก็ดี รูปารมณ์ก็ดี มันเกิดขึ้นชั่วขณะนิดหนึ่งแล้วมันก็ดับไป และเมื่อมันกระทบกันเข้าเกิดเป็นจักขุวิญญาณจิตขึ้นแวบเดียวแล้วก็ดับไปในทันใดนั้นเหมือนหินกับเหล็กไปกระทบกัน แสงไฟเกิดขึ้นแวบเดียวแล้วมันก็ดับหายไปในทันทีทันใดนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติเพียรพยายามกำหนดให้เห็นเพียงแต่สักว่าเห็นแค่นี้แล้ว มันก็ดับหายไปเพียงแค่นั้นเอง มันไม่เลยไปเป็นเราเห็น ฉันเห็น ข้าเห็น ถ้าตัดได้ที่ตรงผัสสะนี้แล้ว ปฏิจจสมุปบาททั้งหมด ก็ขาดสะบั้นลงเพียงแค่นี้ ไม่มีอำนาจจะหมุนต่อไปอีก คือไม่เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเวทนาเป็นตัณหาต่อไป ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานหมั่นปฏิบัติหมั่นกำหนดให้ขาด    บ่อย ๆ แล้วเมื่อญาณแก่กล้าขึ้นมันก็จะตัดได้อย่างเด็ดขาดทีเดียว
    “ผู้ปฏิบัติพึงพยายามตัดปฏิจจสมุปบาทให้ขาดลงตรงที่ผัสสะด้วยวิธีการอย่างนี้”
    ตามธรรมดา คนเรานั้นมีทวารไว้เป็นประจำตนสำหรับรู้อารมณ์ภายนอกคนละ ๖ ทวาร เหมือนกันทั้งโลกเรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพราะขณะตื่นอารมณ์ภายนอกทั้ง ๖ ชนิด คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ย่อมจะเข้ามาปรากฏแก่คนทั้งหลายได้เสมอโดยผ่านทางทวาร ๖ เหล่านี้ และที่ทวารเหล่านี้ ถ้าผู้ปฏิบัติไม่คอยระวังรักษาด้วยสติไว้ให้ดีแล้ว อารมณ์ภายนอกทั้งหลายก็ไหลหลั่งพรั่งพรูเข้ามารบกวน ชวนให้หมุนไปตามอำนาจของปฏิจจสมุปบาทเสมอ
    อารมณ์นั้นแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ อารมณ์บัญญัติอย่างหนึ่ง อารมณ์ปรมัตถ์อย่างหนึ่ง อารมณ์บัญญัตินั้น เช่น เมื่อเห็นรูปทางตา ก็ปล่อยให้เห็นเลยไปจนปรากฏเป็นหญิงหรือชาย สิ่งนั้นดีหรือไม่ดี เกิดความชอบหรือไม่ชอบหรือยินดียินร้าย อันเป็นเวทนาขึ้น แต่นั้นตัณหาและอุปาทานก็เกิดขึ้นโดยลำดับ การเห็นอารมณ์ภายนอกเป็นหญิงเป็นชายขึ้นนั้นเรียกว่าอารมณ์บัญญัติซึ่งมีปรากฏอยู่แก่คนธรรมดาทั่วไป ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดการเห็นเป็นเพียงสักว่าเห็นเท่านั้น สภาพที่เห็นก็ดับไปตามธรรมชาติ ไม่ทันจะเป็นปัจจัยก่อให้เกิดเวทนาต่อไปได้ สภาพของการกำหนดว่า “เห็นหนอ” คือให้เห็นเพียงสักว่าเห็นเท่านั้นอุปมาเหมือนหินกับเหล็กไฟกระทบกัน ไฟเกิดขึ้นแวบหนึ่งแล้วก็ดับหายไปฉันใด จักขุประสาทกับรูปารมณ์กระทบกันแล้ว จักขุวิญญาณจิต ก็เกิดเห็นขึ้นแวบหนึ่งแล้วก็ดับไปฉันนั้น การกำหนดเห็นอารมณ์ที่ผ่านมาทันตามสภาวธรรมไม่ปล่อยให้เลยถึงบัญญัติอย่างนี้อารมณ์นั้นจัดเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ อารมณ์บัญญัตินั้นเป็นเพียงสมมติบัญญัติขึ้นไม่ได้เป็นจริงตามสภาวะ ส่วนอารมณ์ปรมัตถ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นจริงตามสภาวะ
    อารมณ์ปรมัตถ์นี้ ถ้าผู้ปฏิบัติรักษาทวาร ๖ ได้ดีแล้ว เมื่อรูปมาปรากฏทางทวารตาก็กำหนดว่า “เห็นหนอ” แวบเดียวเท่านั้นก็ดับไป เมื่อเสียงมาปรากฏทางทวารหู ก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอ” แวบเดียงเท่านั้นก็ดับไป เมื่อกลิ่นมาปรากฏทางทวารจมูกกำหนดว่า “กลิ่นหนอ” แวบเดียวเท่านั้นก็ดับไป เมื่อรสมาปรากฏทางทวารลิ้นกำหนดว่า “รสหนอ” แวบเดียวเท่านั้นก็ดับไป เมื่อโผฏฐัพพะ คือความเย็นร้อนอ่อนแข็งอย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฎทางทวารกาย ก็กำหนดว่า “เย็นหนอ ร้อนหนอ” เป็นต้น แวบเดียวเท่านั้นก็ดับไป และเมื่อธรรมารมณ์มาปรากฏทางทวารใดก็กำหนดว่า “รู้หนอ” แวบเดียวเท่านั้นก็ดับไป เมื่อพยายามกำหนดได้อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ผู้ปฏิบัติชื่อว่าได้แต่อารมณ์ปรมัตถ์อารมณ์บัญญัติไม่เกิด และเพราะเหตุนี้ปฏิจจสมุปบาทก็ขาดลงหมุนต่อไปไม่ได้อีก เพราะเมื่อผัสสะขาดแล้ว เวทนา ตัณหา เป็นต้น ก็เกิดขึ้นไม่ได้อยู่เอง
    ในทางปฏิบัตินั้น การกำหนดรู้แต่อารมณ์ปรมัตถ์ ไม่ปล่อยให้เลยไปถึงอารมณ์บัญญัติอย่างนี้เรียกว่า สัมมาทิฐิ และการกำหนดรู้ว่า “เห็นหนอ” ครั้งเดียวนั้น อัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว การกำหนดรู้ว่าจักขุประสาทกับรูปารมณ์กระทบกันแล้ว จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นชั่วขณะแวบหนึ่งแล้วก็ดับไป ความรู้อย่างนี้เรียกว่า สัมมาทิฐิ เมื่อองค์มรรค คือ สัมมาทิฐิอันเป็นตัวจักรที่สำคัญเกิดขึ้น องค์มรรคอีก ๗ มีสัมมาสังกัปปะ เป็นต้น ก็พลอยเกิดขึ้นตามกันในอารมณ์เดียวกันนั้น เปรียบเหมือนเครื่องจักรทั้งหลาย เมื่อจักรตัวสำคัญเพียงตัวเดียวหมุนแล้ว จักรตัวอื่น ๆ ก็หมุนตามกันไป มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฐิ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกันในอารมณ์อันเดียวกัน อย่างนี้จึงเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค คือ มรรคประกอบด้วยองค์ ๘
    อัฏฐังคิกมรรคนั้นมี ๒ ชั้น คือ เป็นโลกิยมรรค หรือ ปุพพภาคมรรคชั้นหนึ่ง เป็นโลกุตรมรรคชั้นหนึ่ง อธิบายว่า ตั้งแต่สัมมสนญาณไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ จัดเป็นโลกียมรรค หรือปุพพภาคมรรค เมื่อถึงมรรคญาณและผลญาณแล้วจัดเป็น โลกุตตมรรค
    แต่อย่างไรก็ดี การพูดการกล่าวด้วยปากนี้มันง่าย ส่วนการปฏิบัตินั้นยากอยู่ เช่น เมื่อรูปารมณ์มากระทบกับจักขุประสาท อาการเห็น ที่เรียกว่าจักขุวิญญาณจิตก็เกิดขึ้น เมื่ออาการเห็นเกิดขึ้นแล้ว ที่จะบังคับให้มันหยุดขาดลงเพียงแต่สักว่าเห็นนั้น มักจะทำกันไม่ค่อยได้ มักจะเลยไปเสียคือเห็นเป็นผู้ชายผู้หญิง เห็นเป็นสวยไม่สวย ชอบไม่ชอบเกิดเป็นเวทนา เป็นอารมณ์บัญญัติไปแล้ว คราวนี้กิเลสตัณหาก็เกิดขึ้นแล้วอุปาทานก็เกิดขึ้นตามลำดับ มันหมุนเวียนอย่างนี้

 



ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-12-27