ที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกปัญจวัคคีย์ให้ เข้ามา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาตามลำดับ โดยตรัสว่า

เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อนริโย อนตฺถสญฺหิโต โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค ทุกฺโข อนริโย อนตฺถสญฺหิโต

เป็นต้น แปลเป็นใจความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด สองอย่างอันบรรพชิต๑ไม่ควรเสพ ที่สุดสองอย่างนั้นคือ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค การตามยึดติดในความสุข อันเกิดจากกาม และ อตฺตกิลมถานุโยโค การตามยึดติด ในความเพียรให้เกิดความลำบากเนื่องจากกาม

กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค การตามยึดติดความสุขในกาม

กามนี้มีอยู่สองอย่างได้แก่ วัตถุกามและกิเลสกาม “วัตถุกาม” สรุปโดยรวมคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (การถูก โดน ชน กระทบ เคลื่อน นิ่ง เป็นต้น) และ ธรรมารมณ์ ๑ (มีเจ็บ ปวด มึน ชา คัน เมื่อย เป็นต้น)

“วัตถุกาม” เป็นส่วนที่ใจเราชอบ ความชอบนั้นท่าน ว่าเป็น “กิเลสกาม” เพราะเมื่อไม่ได้วัตถุกามตามที่กิเลส กามเหนี่ยวนำก็จะเกิดโทสะ ตรงนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค ที่สุดส่วนใด ที่เป็นการยึดติดในความสุขอันเกิดจากกาม (หมายถึง วัตถุกาม) เมื่อใดก็ตามที่ยึดติดในความสุขอันเกิดจาก วัตถุกาม เมื่อนั้นกิเลสกามเกิดขึ้นแล้ว พระองค์ตรัสเรียก รวม ๆ ว่ากามเฉย ๆ เพราะวัตถุกามและกิเลสกามนั้น เกิด ขึ้นพร้อมกันและอาศัยกัน 

ตรัสว่า หีโน เป็นความเสื่อมลงของสภาวจิต เพราะ แทนที่จะออกจากกาม ออกจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ แทนที่จะพัฒนาอินทรีย์ พัฒนาจิตให้แก่ขึ้น กลับไปยึดและ หมกมุ่นในกามความสกปรกเศร้าหมอง อันก่อให้เกิดกิเลส มากขึ้นไปอีก ทุกข์ทั้งหลายนั้นล้วนมีกิเลสเป็นเหตุ เป็น แดนเกิด แทนที่ทุกข์จะน้อยลง ดับไป กลายเป็นว่าทุกข์นั้น เองเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น แทนที่จะเจริญก้าวหน้าไปสู่ความ ประเสริฐ ไปตามทางของพระอริยเจ้า ก็กลับเดินสวนทาง กับคำสอนของพระองค์ มุ่งลงสู่ความเสื่อมอย่างสิ้นเชิง
 
ตัวอย่างเช่น เวลาทำกัมมัฏฐานเราอยากจะได้พอง- ยุบ กามเข้าหรือยัง ทำกัมมัฏฐานอยู่แล้วเกิดอาการง่วง คิดว่าถ้ามีเวทนาสักหน่อยคงจะดี ตาจะได้แจ้ง นี่ก็กาม เข้าแล้วใช่ไหม พอได้พอง-ยุบก็อยากให้มันชัด อันนี้เป็น ภวตัณหา มาจากกามเหมือนกัน จะเห็นว่ากิเลสเพาะตัว มากขึ้น ในส่วนที่มันไม่ได้อย่างที่อยากได้ แต่ไปได้อย่างอื่น มาแทน เช่น ได้ยินเสียงแทนที่จะกำหนดเสียง เกิดไม่พอใจ ขึ้นมา เพราะเสียงทำให้ไม่สามารถกำหนดพอง-ยุบได้ เลยโกรธ โมโห นี่ก็พยาบาทเข้ามาแล้ว หรือพอง-ยุบ กำหนดได้ทีสองทีหายไปแล้ว ใจเหี่ยว ไม่พอใจ หมดเรี่ยว หมดแรง ถีนมิทธะเข้าแล้ว นี้เป็นฝ่ายของโทสะ

ฝ่ายของพยาบาทนั้นมาจากที่ไม่ได้กามนั่นเอง ถ้าปล่อยพยาบาทไว้ ความอยากให้เสียงหาย อยากให้หมดไป อยากหนี อยากพ้นจากเสียง อยากทำลายเสียง เพราะมัน มารบกวน ทำให้กำหนดพอง-ยุบไม่ได้ ตรงนี้วิภวตัณหา เกิดขึ้น สรุปแล้วกามเป็นเหตุให้สะสมทั้งกามตัณหา พยาบาท ภวตัณหา วิภวตัณหา

ทำกัมมัฏฐานแบบนี้ แทนที่กิเลสตัณหาทั้งหลายซึ่ง เป็นเหตุแห่งทุกข์จะถูกดับ กลับยิ่งเกิดมากขึ้น ทุกข์ยิ่งเพิ่มมากขึ้น แทนที่จิตจะสะอาดมากขึ้น กลับกลายเป็นสกปรก มากขึ้น แทนที่จะมีความเจริญเกิดขึ้น ก็มีแต่ความเสื่อม เท่านั้นที่เกิดขึ้นมาแทนมากขึ้น จึงถูกเรียกว่า หีโน เสื่อม ลง เลวลง

คมฺโม เมื่อเป็นดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังเป็นที่ “ชอบใจ” กามตัณหาเกิด “อยากได้”  ภวตัณหาเกิด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างไม่มีที่สิ้นสุด การพอกพูนของกิเลสจึงมีมากขึ้น เหมือน เราเป็นฆราวาส เราสะสมทรัพย์สินอะไรต่าง ๆ เพื่อความ สะดวกในการได้สุข ตามฆราวาสวิสัยของผู้ครองเรือน การสะสมทรัพย์จึงเพิ่มมากขึ้น ๆ ตามความรู้สึกว่าทรัพย์ จะให้สุข ยิ่งอยากได้มากก็สะสมมาก วนเวียนอยู่อย่างนี้ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ การสะสมจึงพอกพูนขึ้น พอกพูนขึ้น ตาม ลำดับ ดังนั้นคำว่า คมฺโม จึงเป็นการพอกเพิ่มพูนกิเลส เหมือนคฤหัสถ์พอกพูนทรัพย์

โปถุชฺชนิโก เมื่อมีการพอกพูนกิเลสมากขึ้น แทนที่ จะเบาบางลงและหมดไป และผู้ปฏิบัติท่านนั้นจะสามารถ พ้นทุกข์ได้ กลายเป็นว่ากิเลสกลับหนามากขึ้น ๆ แทนที่จะ เอากิเลสออกเพื่อดับทุกข์ กลายมาเป็นเอากิเลสเข้าเพื่อ สร้างทุกข์ให้เพิ่มพูน อย่างนี้ไม่เรียกว่าทำกัมมัฏฐาน ไม่ว่า จะเป็นสมถะที่ให้ผลเป็นสมาธิก็ตาม เพราะอะไร เพราะฟุ้งอยู่ ไม่มีสมาธิ หรือไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนา ที่ให้ผลเป็น มรรคเกิด ประหารกิเลสตัณหาเหตุทุกข์ให้ดับ ทั้งส่วนที่ เป็นบุพภาคมรรค คือ มรรค ๘ ซึ่งต้องทำให้เกิดก่อน ทำให้โลกียาริยสัจสมบูรณ์ได้ และทั้งส่วนที่เป็นโลกุตรา- ริยสัจทั้ง ๔ อันมีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น สมบูรณ์ได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็น เหมือนเมื่อครั้งที่ พระองค์ทรงเรียนสมาธิอยู่กับอุทกดาบสและอาฬารดาบส พอทำไปแล้วจิตสงบนิ่ง สุข เบา สบาย เย็น เหมือนจิต นอนพัก จิตอยากจะอยู่อย่างนั้น ไม่อยากทำอะไร อยาก จะอยู่นิ่ง ๆ อย่างนี้เป็นกามสมาธิ มีสมาธิเป็นกามกิเลส ไปแล้ว ในคัมภีร์มหาฎีกา พระมหาฎีกาจารย์กล่าวไว้ว่า สุญฺญาคารํ ปวิฏฺฐสฺส สนฺตจิตฺตสฺส ภิกฺขุโน อมานุสี รตี โหติ สมฺมา ธมฺมํ วิปสฺสโต เมื่อภิกษุเข้าสู่เรือนว่าง นั่งกัมมัฏฐาน ได้เห็นธรรมที่ชอบใจ ย่อมมีความยินดีพอใจ เหมือนความยินดีของอมนุษย์ (เทวดา)

สมัยก่อนอาจารย์ของอาจารย์บางท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อเข้าสมาธิถึงที่แล้ว มีสุขมากเหลือเกิน ไม่รู้จะหาคำ อะไรมาอธิบายให้ใกล้เคียงได้ ใจมันอยากจะเกาะดื่มด่ำ สงบอยู่กับสมาธินั่นแหละ ไม่อยากไปไหน ต่อให้นางงาม แต่งตัวเพริศพริ้งดังเทพธิดาสัก ๕๐๐ คน มาเดินโชว์ให้ ยลโฉม จิตมันก็ไม่ละออกมาหรอก แต่เมื่อออกจากสมาธิ แล้ว กิเลสก็เหมือนเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ว่าคอยสะกดมัน ไว้เท่านั้น

อย่างนี้ถึงแม้ว่าเสวยสุขในสมาธิ ก็เป็นแค่กามสุข เท่านั้นเอง นอกจากจะไม่หลุดพ้นจากทุกข์แล้ว ยังติดอยู่ ในทุกข์มากยิ่งขึ้นด้วย เรียกว่ายิ่งทำกิเลสยิ่งมากขึ้น หนาขึ้น เยอะขึ้น กามกิเลสคือความพอใจในสุขอันเกิดจากสมาธินี้ ใครจะให้เอาออกไปเสียก็ไม่ยอม ยิ่งทำยิ่งห่างจากมรรคผล นิพพานไปทุกที พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า วิธีนี้ไม่ใช่ แนวทางหรือเส้นทางที่จะดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

อนริโย แปลว่าไม่ประเสริฐ คือ ไม่ดี ไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่แนวทางหรือวิถีทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย อันมี พระพุทธเจ้า เป็นต้น ออกไปนอกทางแล้ว วิธีนี้ทรงเรียน จากอุทกดาบสและอาฬารดาบสมาก่อนแล้ว ใครที่ติดอย่างนี้แสดงว่าเป็นประเภท กาเมสุ กาม- สุขลฺลิกานุโยโค ติดในความสุขอันเกิดจากกามสมาธิ อย่างนี้กามกิเลสเข้าชัดเจน ท่านเรียกว่าเป็นสายพิณข้าง หย่อน ยิ่งทำยิ่งติดแน่นกับกิเลสมากขึ้น ไม่มีทางที่จะพ้น ทุกข์พ้นกิเลสไปได้ เป็นประเภทรูปราคะ อรูปราคะ ในที่นี้ หมายถึงรูปฌาน อรูปฌาน ติดอย่างนั้นจะไม่ไปไหน อาฬารดาบสและอุทกดาบส พอไปเกิดเป็นพรหมแล้ว มีอายุตั้ง ๘๔,๐๐๐ กัป พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไปแล้วไม่รู้ว่า กี่พระองค์ ก็ไม่ได้บรรลุกับเขา หมดบุญจากพรหมโลกแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ลงอบายภูมินะ ยังมีสิทธิ์

ฉะนั้นเมื่อเทวดากำลังจะหมดอายุ เขาจึงอวยพรกัน ว่า ขอให้มาเกิดเป็นมนุษย์ ส่วนมนุษย์พอจะหมดอายุ ก็ ขอให้ไปเกิดเป็นเทวดากันใช่ไหม เพราะอะไร เพราะถ้าพลาด จากมนุษย์ก็ลงอบายภูมิ พลาดจากเทวดาก็ลงอบายภูมิ มาจากสาเหตุที่ไปติดกามนั่นแหละ ติดความสุขอันเกิด จากความพอใจ และไม่ว่าจะพอใจอะไรก็คือกาม ทำให้ ไม่หลุดพ้น

อนตฺถสญฺหิโต ไม่มีประโยชน์อะไร ๆ กับคนทำเลย มีแต่โทษอย่างเดียว มีแต่จมอยู่ในกองกิเลสเป็นเหตุแห่ง ทุกข์เท่านั้น ไม่สามารถพ้นทุกข์ไปได้

อตฺตกิลมถานุโยโค การตามยึดติดในความเพียรให้เกิดความลำบาก

เนื่องจากอัตตา คือการเพ่ง เกร็ง บังคับ ด้วยอำนาจของ อภิชฌาคือความทะยานอยาก และโทมนัสคือความเสียใจ ที่ไม่ได้กาม (พยาบาท) ดังนั้น อตฺตกิลมถานุโยโค จึงมีสาเหตุมาจากกามส่วนหนึ่ง และพยาบาทอีกส่วนหนึ่ง ซึ่ง อธิบายได้ดังต่อไปนี้ 

  • การตามยึดติดในความเพียรให้เกิดความลำบาก เนื่องด้วยกาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า กามเป็นส่วน ที่สุดอย่างหนึ่งที่ไม่ควรเสพ ส่วนที่สุดนี้ถ้าเปรียบกับถนน หนทาง ก็คงจะเป็นริมทาง ในที่นี้สมมุติว่ากามอันมีความ พอใจ ชอบใจ อยากได้ เป็นต้น เป็นขอบทางถนนด้านซ้าย ซึ่งเป็นส่วนข้างหย่อน เกิดแล้วจะสะสมกิเลสกาม เป็นเหตุ ให้มีความอยากได้กามมากขึ้น ก็จะเพ่ง เกร็ง บังคับ เพื่อ ให้ได้มา การทำความเพียรให้เกิดความลำบากปรากฏแล้ว อุปาทานที่ไม่พึงประสงค์จากวิปลาสต่าง ๆ จะเกิดอย่าง มากมาย เป็นขอบทางถนนด้านซ้ายส่วนข้างตึง มีเหตุ หนุนเนื่องมาจากกาม ทุกฺโข เป็นทุกข์ อนริโย ไม่ใช่ แนวทางที่ดีที่ประเสริฐ เป็นทางผิด เป็นทางเสื่อม ทำแล้ว เป็นอันตรายแก่ผู้ทำ อนตฺถสญฺหิโต ทำแล้วไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษแก่ผู้ทำอย่างเดียว
  • การตามยึดติดในความเพียรให้เกิดความลำบาก เนื่องด้วยพยาบาท เมื่อเพ่ง เกร็ง บังคับ เพื่อให้ได้กาม ที่ชอบด้วย อตฺตกิลมถานุโยโค แต่ไม่สมหวัง หรือไปได้ในสิ่งที่ไม่ชอบ หรือได้สิ่งที่ชอบแล้วเสียหายไป รักษาไม่ได้ ก็จะโกรธ โมโห หงุดหงิด เป็นพยาบาท เปรียบเป็นริมถนน ด้านขวาข้างหย่อน กิเลสอันนับเนื่องด้วยพยาบาทเกิดสะสมขึ้นมากมาย กุศลจะเสื่อมลง กิเลสอกุศลจะนำหน้า ก็จะเพ่ง เกร็ง บังคับ ให้ส่วนที่ไม่ชอบหายไป ท่านเรียกว่าบังคับด้วย โทมนัส อตฺตกิลมถานุโยโค การยึดติดความเพียรให้ เกิดความลำบากเนื่องมาจากพยาบาทเกิดขึ้น เป็นริมถนน ด้านขวาข้างตึง เป็นเหตุให้อุปาทานที่ไม่พึงประสงค์ อัน เกิดจากวิปลาสต่าง ๆ ปรากฏอย่างมากมาย ทุกฺโข เป็น ความทุกข์ ยากลำบาก อนริโย ไม่ใช่วิธีที่ดี ไม่ใช่วิธีที่ถูก อนตฺถสญฺหิโต ไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนทำ มีแต่โทษ อย่างเดียว ในมหาสติปัฏฐานพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ในขณะที่ เรากำหนดรู้อาการทางกาย อาการทางเวทนา หรือสภาวจิต สภาวธรรมก็ตาม วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ พึง ขจัดการเพ่ง เกร็ง บังคับ ด้วยอำนาจของอภิชฌา๑ ที่มา จากทางกาม และโทมนัสที่มาจากพยาบาทในโลกเสีย เพราะเหตุว่าการเพ่ง เกร็ง บังคับสภาวะ เป็น มิจฉา- กัมมันตะ มรรค ๘ ไม่เกิด

ดังนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องดับกาม ดับการเพ่ง เกร็ง บังคับ อันเนื่องจากอภิชฌา และดับพยาบาท การเพ่ง เกร็ง บังคับอันเนื่องจากโทมนัส เพื่อเข้าสู่ความเป็นมัชฌิมา ด้วยมรรค ๘ ริมถนนข้างซ้ายทั้งหย่อนอันได้แก่กามและ ตึงอันได้แก่อภิชฌา ดับไปด้วยมรรค ๘ ริมถนนข้างขวา ทั้งหย่อนอันได้แก่พยาบาทและตึงอันได้แก่โทมนัส ดับไป ด้วยมรรค ๘ จึงเหลือเพียงมัชฌิมาปฏิปทา คือการ ป้องกันโมหะและรักษาจิตให้สะอาดเป็นกลาง ดุจดำเนินไป บนกลางถนนด้วยมรรค ๘ อีกเช่นกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้กับปัญจวัคคีย์ เพราะ วิชาติดในความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น ท่านอาฬารดาบส และท่านอุทกดาบสเป็นผู้สอนพระองค์มา โดยมีปัญจวัคคีย์ เป็นผู้ดูแลอุปถัมภ์อยู่ในขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ย่อมมีส่วน รู้เห็น และวิชาเพ่ง เกร็ง บังคับ เพื่อให้ได้อย่างที่ต้องการ ท่านโกณทัญญะกับทีมงานเป็นคนสอนเองอีกเช่นกัน ก่อน ที่จะให้พระองค์อดพระกระยาหาร

ดังนั้นพอพระองค์ตรัสสอนอย่างนี้ ปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย ที่นั่งฟังอยู่ ก็เข้าใจความเป็นไปได้ทันที พร้อม ๆ กับที่เกิด ความกังขาว่า เมื่อสองอย่างนั้นไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง แล้ว ที่ถูกต้องจะต้องเป็นอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสต่อว่า เอเต เต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม ภิกษุทั้งหลายที่สุดสองอย่างนี้ เหล่านั้น ไม่ควรเข้าไปใกล้ ตรงนี้จะเห็นได้ว่าที่สุดสองอย่าง นั้น อย่าว่าแต่จะจงใจทำเลย แม้แต่เข้าใกล้ พระพุทธเจ้า ยังทรงห้าม เหมือนเราเห็นงูเห่า ถึงจะตัวเล็ก ๆ เพียงแค่ พอหัดเลื้อยได้บ้าง หรือแม้แต่จะอยู่ในไข่พึ่งแคะมันออกมา ใหม่ ๆ ก็ตาม ถ้าประมาทเผลอปล่อยให้กัด ก็ตายได้อยู่ดี ฉะนั้นอย่าเข้าไปใกล้

 

ที่มา:จากหนังสือพระธรรมจักรเทศนาฏีกา

 

 



ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-12-11