ดับตัณหา เหตุแห่งทุกข์

มีหลักฐานที่พระองค์ตรัสไว้ในพระธรรมจักร และใน มหาสติปัฏฐานตรงกันว่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ  จาโค  ปฏินิสฺสคฺโค  มุตฺติ  อนาลโย

อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ ภิกษุ ทั้งหลาย ความจริงอย่างประเสริฐเหล่านี้ คือการดับทุกข์ ดับทรมาน  โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ ในการดับตัณหาอันใดเหล่านั้น โดยการคลายกำหนัดอย่าง ชนิดไม่มีเศษเหลือ  จาโค คือการสละทิ้ง ปฏินิสฺสคฺโค คือการทำให้คืนกลับออกไป มุตฺติ การทำให้หลุด ทำให้ พ้น หรือการปล่อยวาง (ความจริงแล้วมุตติแปลว่าหลุดพ้น)   

อนาลโย ชนิดที่ไม่มีความผูกพัน ไม่มีเยื่อใย หมดข้อ ผูกพันต่อกัน เมื่อใดก็ตามที่เราทำตรงนี้ได้ เมื่อนั้นทุกข์ก็จะดับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานว่า นิโรธ คือความดับทุกข์ เวลาจะดับทุกข์ เราต้องรู้ว่าทุกข์นั้นเกิด ที่ไหน ทุกข์เกิดที่ไหน ที่ ปิยรูป ลักษณะอันเป็นที่พอใจ ชอบใจ สาตรูป ลักษณะอันเป็นที่เจริญใจ ปิยรูปและ สาตรูปเกิดขึ้นที่ไหน ตัณหาจะเกิดที่นั่น ถ้าจะดับตัณหา ต้องดับที่ตรงนั้น

เหมือนกับเวลาที่เราจะดับไฟ ไฟลุกห่างจากเราไปสัก ๑ เส้น (๔๐ เมตร) สิ่งแรกที่เราเห็นคือเปลวไฟกับควันไฟ คือเห็นตรงส่วนที่จะทำให้เราทุกข์ก่อน เชื้อไฟเราจะยัง ไม่เห็นจนกว่าจะเดินเข้าไปใกล้ ๆ จึงพบว่าอ้อ..อันนี้ไฟมัน ติดไม้ มันไหม้ฟืนไหม้หญ้าอยู่ เวลาดับเราจะเอาน้ำสาด ไปที่เปลวไฟหรือที่ฟืน ถ้าสาดไปที่เปลวไฟ สาดจนหมด แม่น้ำเจ้าพระยา ไฟจะดับไหม ต้องสาดไปที่ฟืน พอฟืน เปียกไม่เป็นเชื้อไฟ ไฟก็ดับ เกิดต่อไปไม่ได้

ทุกข์ก็เหมือนกัน ต้นเหตุเกิดขึ้นที่ไหนให้ดับที่นั่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ไว้ว่า ตัณหาซึ่งเป็นเหตุเกิดของ ทุกข์ เกิดที่ปิยรูป สาตรูป แล้วปิยรูป สาตรูป ติดอยู่ที่ไหน ติดอยู่ที่รูป เกิดพร้อมกับรูป อาศัยรูปเกิด จึงต้องดับที่รูป ปิยรูป สาตรูป ติดอยู่ที่เวทนาก็ดับที่เวทนา ติดที่สัญญาก็ ดับที่สัญญา ติดที่เสียงก็ดับที่เสียง ดับอะไร ดับตัณหา ในปิยรูป ในสาตรูป เหมือนไฟที่ติดอยู่กับฟืน ก็ต้องดับที่ ความเป็นฟืน ตัณหาเกิดที่ไหนให้ดับที่นั่น นิโรธความดับ ทุกข์จึงสามารถเกิดขึ้นได้ อันนี้เป็นแผนการทำงานที่พระ พุทธเจ้าตรัสสอนไว้ 

 

ที่มา:จากหนังสือพระธรรมจักรเทศนาฏีกา

 



ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-12-11