พุทธวิหาร ศูนย์กลางการศึกษาวิปัสสนาธุระ
วัดพระธรรมจักร จังหวัดนครนายก

หน้าหลัก
ติดต่อเรา จองปฏิบัติธรรม ทำบุญวันเกิด เจ้าภาพกฐิน เรียนกัมมัฏฐาน เมนูหลัก

ประวัติพระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ


ชีวประวัติ พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมฐานาจริยะ พุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ชีวิตวัยเยาว์

            พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมฐานาจริยะ พุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ.2469 อายุ 15 ปี
และได้เริ่มศึกษาคันถะธุระ อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2475 อายุ 20 ปี จบการศึกษาชั้นธัมมาจริยะ พ.ศ. 2480 อายุ 27 ปี
พรรษา 7 ศึกษาวิชาพิเศษเพิ่มเติมอีก 3 ปี จนอายุ 30 ปี และได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะวาจกสยาดอร์ 1 ใน 7 รูป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 ถึง พ.ศ. 2493
ประจำมหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย รวมเป็นเวลา 10 ปี (คณะวาจกสยาดอร์ คือ คณาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ประจำมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ในการให้การศึกษาพระไตรปิฏก บาลี อรรถคาถา ฏีกา และคัมภีร์ต่างๆ)

เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติ

           พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระ ปฏิบัติกัมมัฎฐานครั้งแรกตามคำแนะนำของพี่สาวใน พ.ศ. 2493 ที่วัดชส่วนหล่น จ.เมียนฉั่น โดยมีพระอาจารย์ภัททันตะ กวิมหาเถระ ปธานกัมมัฎฐานจริยะ เป็นอาจารย์ผู้สอน ด้วยวิริยะอุตสาหะปฏิบัติอยู่นาน ครั้งละ 45 วัน 2 ครั้ง พอเป็นแนวทางเบื้องต้น และปีนั้นได้เข้าปฏิบัติยังสำนักวิปัสสนาวัดมหาสี ต.เช็ตโข่น จ.ส่วยโบ่ โดยมีพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระอัคคมหาบัณฑิต (พระอาจารย์มหาสีสยาดอร์) เป็นเจ้าสำนัก

            พระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระอัคคมหาบัณฑิต ได้มอบธุรการสอนให้แก่พระอาจารย์ภัททันตะ ส่วยเชดีสยาดอร์ อัคคมหาบัณฑิต เป็นผู้บอกกัมมัฎฐาน พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระ ปฏิบัติเข้มงวดกวดขันอย่างอุกฤษฏ์ 45 วันจึงสำเร็จ หลังได้ผลตามความประสงค์แล้ว พระอาจารย์ผู้สอนได้กำชับให้ทบทวนวิปัสสนาญาณจนมีความเชี่ยวชาญแม่นยำ รวมระยะเวลาที่ปฏิบัตินาน 4 เดือน จึงอนุญาตให้ออกจากการปฏิบัติ ไปพบพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ ซึ่งขณะนั้นบำเพ็ญศาสนกิจ เป็นอาจารย์บอกกัมมัฎฐานอยู่ที่สำนักวิปัสสนาสาสนยิตสา นครย่างกุ้ง เพื่อเรียนวิชาวิปัสสนาจารย์ และหลังจากจบการศึกษาวิชาวิปัสสนาจารย์แล้ว ในปี พ.ศ. 2493 ได้รับตำแหน่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์ บอกกัมมัฎฐานแก่ผู้ปฏิบัติที่เป็นพระภิกษุ ประจำอยู่สำนักวิปัสสนาสาสนยิตสาแห่งนครย่างกุ้งนั้นเอง

พระผู้บอกกัมมัฎฐานแก่พระมหาโชดก ญาณสิทธิ ปธ.9

            ในปี พ.ศ. 2495 ที่ประเทศไทย สมเด็จพุฒาจารย์ (อาจ อาสภะมหาเถระ ปธ.8) อดีตสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมัยนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ได้ส่งพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ปธ.9 (พระธรรมธีรราชมหามุนี) ให้เป็นศิษย์แก่พระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ เพื่อเข้าศึกษาวิปัสสนากัมมัฎฐานในสำนักสาสนยิตสา (ฯพณฯท่านอูนุ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศสหภาพพม่าในขณะนั้น เป็นประธานจัดสร้างขึ้น) พระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ มอบให้พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระ เป็นผู้บอกกัมมัฎฐาน พระมหาโชดก ญาณสิทธิ ปธ.9 ปฏิบัติอยู่นาน 3 เดือนได้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย หลังจากนั้นจึงปฏิบัติศาสนกิจด้านการศึกษา และอื่นๆ อยู่ที่สหภาพพม่ารวมเวลาประมาณ 1 ปี

            เมื่อพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ปธ.9 สำเร็จการศึกษาในระดับที่พอใจแล้ว จึงดำริที่จะกลับเมืองไทย และแจ้งความประสงค์นี้แก่พระพิมลธรรมให้รับทราบ ทางการศึกษาคณะสงฆ์ไทยนำโดยพระพิมลธรรม จึงแจ้งความจำนงเพื่อขอพระวิปัสสนาจารย์ชั้นดี ผู้มีความชำนาญ 2 รูป จากสภาการศึกษาประเทศพม่า ทางสภาการศึกษาประเทศพม่าจึงมีมติให้พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะ กัมมัฏฐานาจริยะ ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญทั้งด้านปริยัติสัทธรรม และปฏิบัติสัทธรรมอย่างพร้อมมูล เป็นพระสมณฑูตผู้แทนคณะสงฆ์ รัฐบาล และพุทธศาสนิกชนชาวพม่าทั้งปวง เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีด้านพุทธศาสนาในประเทศไทย และให้พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะ กัมมัฏฐานาจริยะ เลือกพระวิปัสสนาจารย์ที่เป็นกัลยาณมิตรไปด้วยกันอีก 1 รูป ซึ่งพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะ กัมมัฏฐานาจริยะ ได้เลือกพระอาจารย์อินทวังสะ กัมมัฎฐานาจริยะ ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด ให้เป็นเพื่อนไปด้วย

            สภาการศึกษาประเทศพม่าจึงมีความยินดีจัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ชั้นดี 2 รูป คือ พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะ กัมมัฏฐานาจริยะ และพระอาจารย์อินทวังสะ กัมมัฎฐานาจริยะ เดินทางมาพร้อมกับพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ดังหลักฐานที่ปรากฏในปธานพจน์เกี่ยวกับพระวิปัสสนากัมมัฎฐานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภะมหาเถระ) อดีตผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ และอารัมภบท เกี่ยวกับวิปัสสนากัมมัฎฐานของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชฎก ญาณสิทธิ ปธ.9) อดีตพระอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สถาบันวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย ดังปรากฏในหนังสือ “เพชรในดวงใจ” รจนาโดยพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชฎก ญาณสิทธิ ปธ.9) พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2539

เข้าสู่ประเทศไทย

            คณะวิปัสสนาจารย์มาถึงเมืองไทยครั้งแรกเช้ามืด วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 และเข้ารับหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์บอกกัมมัฎฐาน อยู่ ณ คณะ 5 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ภายหลังได้ย้ายมาสอนวิปัสสนากรรมฐานที่สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม พ.ศ. 2505

            วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2530 ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ รัฐบาลพม่าถวายสมณศักดิ์ที่ “อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ” (เทียบเท่าชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะ) ณ หอประชุมชมพูทีปะ ภายในสีธิมังคะลา กบาเอกุนเมย์ มหาปาตาณะ ซึ่งเป็นคูหา (ถ้ำ) ใหญ่แห่งนครย่างกุ้งอันเป็นสถานที่ประชุมที่รัฐบาลจัดไว้เพื่อถวายสมณศักดิ์แก่คณะสงฆ์พม่าระดับอัคคมหาบัณฑิต ในวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2530 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีระกา จุลศักราช 1354 ตรงกับวันมาฆบูชา

            วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2542 ย้ายมาอยู่ที่สำนักวิปัสสนาสมมิตร-ปราณี ต่อมาศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ถวายให้ตั้งเป็นวัด นามว่า “วัดภัททันตะอาสภเถรวาท” จำนวน 27 ไร่ 2 งาน

ตำแหน่งก่อนมรณภาพ

  • ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
  • ผู้อำนวยการใหญ่ ศูนย์กลางการศึกษาวิปัสสนาธุระพุทธวิหาร จังหวัดนครนายก ณ สำนักวิปัสสนาสมมิตร-ปราณี วัดภัททันตะอาสภเถรวาท สถานที่อันเป็นมิ่งมลคลยิ่งแห่งนี้

            พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมฐานาจริยะ พุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ผู้ทรงไว้ซึ่งความรอบรู้ พุทธศาสนธรรมทั้งด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่างยอดเยี่ยม เพียบพร้อมบริบูรณ์หาผู้เสมอเหมือนได้อย่างยากยิ่ง ถูกคัดเลือกอย่างดีแล้ว จากสภาคณะสงฆ์สหภาพพม่า ว่าสมควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนชาวพม่าทั้งประเทศ ในการเป็นประธานพระสงฆ์สมณทูต เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางด้านพุทธศาสนากับประเทศไทย ด้วยการเผยแผ่พระพุทธสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง ตามที่พุทธอริยสาวกรุ่นก่อนๆ นำสืบกันต่อเนื่องมาตามลำดับอย่างไม่ขาดระยะ นับจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นเรื่อยมา และสามารถตรวจสอบได้ทั้งลำดับพุทธอริยสาวกวงศ์ และผลการปฏิบัติ จนถึงรุ่นศิษยานุศิษย์ ที่พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระมาเผยแผ่ในประเทศไทยจวบจนทุกวันนี้



ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-05