ว่าด้วย "ท่าร่างในการนั่ง" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ใช้ท่านั่งคู้บัลลังก์


ว่าด้วย "ท่าร่างในการนั่ง"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ใช้ท่านั่งคู้บัลลังก์ คือ นั่งขัดสมาธิให้เท้าข้างหนึ่งทับซ้อนอีกข้างหนึ่ง ในคัมภีร์ไม่ได้กำหนดให้ขาขวาทับขาซ้าย หรือขาซ้ายทับขาขวา แสดงว่าจะใช้ขาไหนทับขาไหนก็ได้แล้วแต่ถนัด
.
อริยาจารย์แนะนำต่อๆ กันมาว่า
เพื่อเป็นการปรับเส้นเอ็นให้สมดุลกัน
ควรจะเปลี่ยนสลับขาที่ซ้อนในแต่ละบัลลังก์
.
การนั่งคู้บัลลังก์ คือการเอาเท้าข้างหนึ่งทับซ้อนอีกข้างหนึ่ง ความเมื่อย ล้า ชา ปวด ก็อาจเกิดได้เป็นธรรมดา นั่งไม่นานก็เป็นแล้ว
บางท่านนิยมการนั่งนาน นั่งมาราธอนถือว่าเป็นการนั่งเก่ง อยากเป็นคนเก่ง พอเมื่อย ล้า ชา ปวดเกิดขึ้น เลยผิดหวัง ใจก็เหี่ยว เลยเลื่อนขาลงมาวางเรียงกันไว้ อย่างนี้แสดงว่าวิริยะทางจิตลดลงหรือยัง...ลดลงแล้ว วิริยะขาด อินทรีย์ไม่สมดุลแล้ว ดังนั้น เอาขาขึ้นมาวางไว้ที่เดิมเสีย ไม่ต้องประยุกต์ของพระพุทธเจ้า
.
บางท่านนั่งคู้บัลลังก์ธรรมดาไม่สะใจ
นั่งขัดสมาธิเพชรเสียเลย เป็นการบังคับให้เวทนาเกิดรุนแรงมากขึ้นสุดๆ และใช้ความอดทนอย่างฉกาจฉกรรจ์ข่มไว้ ถือว่าได้แสดงความเก่งกาจ เด่นกว่าวิธีอื่น
.
นี่ก็บังคับด้วย เกร็งด้วย ปวดเจ็บด้วย ใช้ความอดทนข่มไว้ด้วย จิตจับทีเดียว ๓-๔ อารมณ์ เลยไม่มีสมาธิ แถมเพ่ง เกร็ง ข่ม บังคับ เป็นอัตตา
.
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
อัตตกิลมถานุโยโค ทุกโข อนริโย อนัตตสัญหิโต
การตามยึดติดหมกมุ่นพัวพันในอัตตา
เป็นทุกข์ ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ดังนั้นจึงเป็นแต่โทษอย่างเดียว
ไม่ใช่วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ จึงควรเอาเท้ากลับไปซ้อนกันไว้ตามเดิมแบบคู้บัลลังก์
.
การตั้งกายตรงต้องอย่างไรจึงจะถูกต้อง?
"อุชุงกายังปนิฏฐายะ" ตั้งกายตรง คือ
- ยืดลำตัวให้ตรงเต็มที่
- เงยคางให้ขนานไหล่
- คลายการเกร็งกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นทั้งปวง
.
การตั้งกายตรงนั่ง ไม่นานก็จะปวดหลัง ร้อนหลังแล้ว
ทนได้สักครู่หนึ่งใจก็เหี่ยว ตัวก็หด
แสดงว่าวิริยะทางจิตลดลงแล้ว
ถ้าตัวหย่อนลงมาแล้วถึงจะนั่งได้นานเป็นวันๆ
ก็ไม่มีวิริยะทางจิตอยู่ดี
มีแต่นั่งมาราธอนเพียงอย่างเดียว
.
เพราะฉะนั้นผู้ที่หวังความก้าวหน้า
ในการศึกษาวิชาการตรัสรู้เพื่อดับทุกข์ของพระพุทธเจ้า
โดยไม่นิยมติดพันหลงใหลกับการได้สัมผัสเวลาอันยืดยาว
จงดันหลังให้ตรงขึ้นไปไว้ยังที่เดิม
.
ธรรมเทศนาโดย
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ
อธิบดีสงฆ์วัดพระธรรมจักร
#พุทธวิหาร
#วิธีการทำให้มรรค๘เกิด
#มหาสติปัฏฐาน๔
#กัมมัฏฐานเพื่อมรรคผลนิพพาน


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08