ขณิกสมาธิทำให้อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิในการตรัสรู้เกิดได้อย่างไร.ในขณะที่มรรค


ขณิกสมาธิทำให้อุปจารสมาธิ
และอัปปนาสมาธิในการตรัสรู้เกิดได้อย่างไร
.
ในขณะที่มรรค ๘ เกิดขึ้น
ได้ทำการประหารกิเลสให้ยุบลง
ระยะที่กิเลสเปลี่ยนแปลงยุบตัวลงช่วงนั้น...
ขณิกสมาธิเกิดขึ้นตรงที่
ระยะความฟุ้งของกิเลสยุบลงแค่นั้น
เมื่อความฟุ้งยุบตัวลงด้วยมรรค ๘
แล้วนิ่งค้าง คงความสงบอยู่แค่นั้น
การสะกดเพื่อรักษาความสงบ
ที่เกิดแล้วจากมรรค ๘
ให้คงสภาพความสงบอยู่
ไม่ให้กำเริบฟุ้งขึ้นกว่านั้น
เพื่อรอคอยมรรค ๘ ประหารซ้ำอีก
.
การสะกดเพื่อรักษาระดับความฟุ้งให้อยู่ระดับนั้น
ตรงนั้น เป็นอำนาจของอุปจารสมาธิ
เกิดแล้วสะกดกิเลสไว้
ดังนั้นทุกครั้งที่กำหนด
มรรค ๘ ประหารกิเลสแต่ละครั้ง
ขณิกสมาธิเกิดมาพร้อม
กับการประหารกิเลสให้ยุบลง
ความฟุ้งของกิเลสจะน้อยลงๆ
อุปจารสมาธิจะเพิ่มขึ้นจะแก่ขึ้น ๆ
.
จนมรรค ๘ ประหารกิเลสก้อนนั้นครั้งสุดท้าย
อาการของกิเลสนั้นช่วงสุดท้ายดับหมดไป
อุปจารสมาธิแก่ที่สุดแล้ว
ก็จะกลายเป็นอัปปนาสมาธิเกิดขึ้น
ผู้ปฏิบัติจึงสามารถย้าย
ไปกำหนดเข้าถึงรูป-นามสังขาร
หรือวัตถุกามได้
.
ในขณะที่กำหนดอยู่กับรูป-นามสังขาร
หรือวัตถุกามใดอยู่ในขณะนั้น
มรรค ๘ เกิดขึ้นทำหน้าที่กำจัดโมหะ
ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ของรูป-นามสังขาร
หรือวัตถุกามนั้นๆอยู่
.
ขณิกสมาธิจะเกิดขึ้นพร้อม
กับโมหะกิเลสนั้นดับลงหายไป
ความสะอาดผ่องแผ้วปราศจากมลทินใดๆ
ได้ปรากฏเกิดขึ้นในขณะนั้น
พร้อมทั้งความสงบเป็นอัปปนาสมาธิอยู่
จิตเสวยวัตถุกามที่สะอาดนั้น
อาศัยพื้นที่แห่งวัตถุกามนั้นท่องเที่ยว
ไปตลอดพิ้นที่อยู่อย่างนั้น
.
ด้วยเหตุนี้พื้นที่แห่งวัตถุกามนั้น
จึงถูกเรียกชื่อว่า "กามาวจรกุศล"
.
ดังนั้นสมาธิซึ่งใช้ดำเนินไปสู่การตรัสรู้
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองว่า
มีในคำสั่งสอนของพระองค์
ตั้งแต่อุปจารสมาธิไปจนถึงอัปปนาสมาธิ
จะเกิดขึ้นและเจริญสู่ความไพบูลย์
แก่กล้าถึงที่สุดแห่งฌาน
มีพละกำลังมากเพียงพอต่อการ
เป็นพื้นฐานรองรับการเกิดของโลกุตตรมรรคได้
ก็เพราะถือกำเนิดจาก "ขณิกสมาธิ"
และได้รับการคุ้มครองป้องกันรักษา
อย่างดียิ่งจากขณิกสมาธิ (สมาธิแห่งมรรค ๘)
.
เนื้อความโดยสังเขปในการเกิดของ
ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ฌาน
ความสัมพันธ์กันของสมาธิและ
หน้าที่ของแต่ละสมาธิ
ก็มีโดยนัยดังกล่าวมาแล้วนี้
คิดว่าคงชัดประมาณนี้พอแล้ว
อยากให้ชัดกว่านี้
ต้องไปศึกษาภาคสนามเองแล้วกันนะ
.
ธรรมเทศนาโดย
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08