ความหลุดพ้นที่ยังไม่หลุดพ้นคืออย่างไร.การที่ผู้ปฏิบัติสามารถพัฒนาสติในมรรค


ความหลุดพ้นที่ยังไม่หลุดพ้นคืออย่างไร
.
การที่ผู้ปฏิบัติสามารถพัฒนาสติในมรรค ๘ ให้เกิดขึ้น เห็นการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจของขณิกสมาธิ สมาธิที่เกิดจากมรรค ๘ เป็น ตทังควิมุตติ หลุดพ้นชั่วขณะอย่างนี้
.
การทำให้มรรค ๘ เกิดบนพื้นที่ของบริกรรมนิมิต(เครื่องหมายที่ใช้ในการภาวนา)ที่เป็นส่วนของกามาวจรกุศล คือ อารมณ์เป็นกลางมีพอง-ยุบ เป็นต้น ทำให้ขณิกสมาธิเกิดขึ้นบนพื้นที่ของบริกรรมนิมิตนั้น พร้อมกับทำหน้าที่ป้องกันกิเลสไม่ให้เกิด และรักษาพื้นที่ของบริกรรมนิมิตไว้ ให้คงความสะอาดผ่องแผ้วเป็นมัชฌิมา
.
เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของจิตให้ยังคงเป็นกุศล เป็นการทำให้เกิดอัปปนาสมาธิขึ้น ข่มกิเลสไม่ให้เกิด จิตจึงสงบระงับอยู่ตามกำลังของอัปปนาสมาธินั้น ๆ ตั้งแต่อุปจารสมาธิไปจนถึงฌาน เป็น"เจโตวิมุตติ" หลุดพ้นด้วยอำนาจจิตที่ถูกข่มไว้ด้วยพลังสมาธิ สงบระงับอยู่
.
สติในมรรค ๘ เห็นด้วยปัญญาตามกำหนดรู้ตลอดไม่ให้คลาดโดยถี่ถ้วนอย่างนี้ เป็นวิมุตติความหลุดพ้นที่ยังเป็นอวิมุตติ (ยังไม่หลุดพ้น) หมายความว่าไม่เห็นกิเลสปรากฏ
.
เพราะอำนาจของขณิกสมาธิและอัปปนาสมาธิ สะกดให้สงบระงับเหมือนเอาหินทับหญ้าไว้อยู่ ไม่เห็นหญ้าเพราะหินบังฉันใด ก็ไม่เห็นกิเลสเพราะสมาธิปกปิดบังเอาไว้ฉันนั้น จึงชื่อว่าความหลุดพ้นที่ยังมีความไม่หลุดพ้น นี้ชื่อว่าสัมมาสติมาทางด้านเจโตวิมุตติหรือสมถะอย่างหนึ่ง
.
ธรรมเทศนาโดย
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08