#การพัฒนาสมาธิให้ถึงฌานทำอย่างไร.ตัวอย่างเช่น เบื้องต้นเรากำหนดส่วนที่เป็นกามอกุศล


#การพัฒนาสมาธิให้ถึงฌานทำอย่างไร
.
ตัวอย่างเช่น เบื้องต้นเรากำหนดส่วนที่เป็นกามอกุศล มีพอใจ เป็นต้น ในขณะที่กำหนด มรรค ๘ เกิด ประหารพอใจซึ่งเป็นกามอกุศลดับลง และพร้อมๆ กันนั้นกุศลทั้งหลายในโพธิปักขิยธรรมเกิดมาแทนที่
.
เราก็ย้ายไปกำหนดรูปาวจรกุศลที่กำลังปรากฏ มีพอง-ยุบซึ่งเป็นอารมณ์หลักหรืออารมณ์รองอื่น ๆ อันได้แก่ อาการเห็น อาการได้ยิน อาการได้กลิ่น อาการรู้รส อาการถูก โดน ชน กระทบ เคลื่อน นื่ง เจ็บ ปวด มึน ชา คัน เมื่อย ร้อน เย็น แน่น ตึง เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มีความเป็นกลางอยู่
.
ขณะนั้น เป็นการเริ่มพัฒนากุศลที่เกิดแล้วให้เจริญรุ่งเรืองแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้ ดังปรากฏในจารึกธัมมสังคณี กามาวจรอัฏฐมหากุศลจิต ทุติยภาณวาร ตอนหนึ่งว่า
.
กตเม ธมฺมา กุสลา ยสฺมึ สมเย รูปูปปตฺติยา
มคฺคํ ภาเวติ วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ
สวิตกฺกํ สวิจารํ วิเวกชํ ปีติสุขํ ปฐมํ ฌานํ อุปสมฺปชฺช
วิหรติ ปฐวีกสิณํ ตสฺมึ สมเย ผสฺโส โหติ ฯเปฯ
อวิกฺเขโป โหติ ฯเปฯ อิเม ธมฺมา กุสลา ฯ
.
แปลความว่า..ความจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร.ในเวลาใดก็ตามที่โยคาวจรบุคคลสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว ยังมรรคให้เจริญด้วยการเข้าถึงรูป พร้อมทั้งวิตกก์ พร้อมทั้งวิจาร ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก บรรลุปฐมฌาน อาศัยอยู่
.
ในเวลานั้นโยคาวจรบุคคล ได้สัมผัสกับปฐวีกสิณ เตโชกสิณ อาโปกสิณ วาโยกสิณ กสิณสีเขียว กสิณสีเหลือง กสิณสีแดง เป็นต้นแล้ว อวิกฺเขโป ความฟุ้งหมดไปแล้ว เหล่านี้ชื่อว่า ความจริงที่ถูกต้อง
.
กุศลคือความจริงที่ถูกต้อง ความจริงที่ถูกต้องในที่นี้คือฌาน ฌานจะเกิดขึ้นได้ด้วยการอาศัยรูปทำให้มรรค ๘ เกิด ในขณะที่อาศัยรูปทำให้มรรค ๘ เกิดนั้น กามและอกุศลไม่มีเหลือในจิต และในขณะที่อาศัยรูปทำให้มรรค ๘
เกิด กสิณทั้งหลายซึ่งเป็นองค์ประกอบของรูป และรูปอันมีปฐวีกสิณ เป็นต้น ได้ปรากฏเรียบร้อยแล้ว
.
ดังนั้นถือตามนัยแห่งหลักฐานนี้ เมื่อผู้ใดก็ตามกำหนดตามรู้รูป มีพอง-ยุบเป็นต้นเวลาใด เวลานั้น ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำกสิณทั้ง ๑๐ ประการ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น ไปพร้อม ด้วยแล้วใช่ไหม
.
ตรงนี้ต้องแบบนี้เลย ตามหลักฐานนี้แล้วฌานเข้าถึงได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสถึงสมาธิที่ถูกต้องในสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิที่เกิดด้วยอำนาจมรรค ๘ ว่า สามารถได้ถึงจตุตถฌาน ฌานที่ ๔ ซึ่งเป็นฌานที่มีกำลังสมาธิมากที่สุดสมาธินทรีย์คือการพัฒนาสมาธิได้ถึงแก่สุด
.
ธรรมเทศนาจาก
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ
ประธานสงฆ์วัดพระธรรมจักร


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08