วิธีการพัฒนาความเพียรให้ถึงขั้นแก่กล้าสูงสุด..เมื่อสามารถทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้แล้ว


วิธีการพัฒนาความเพียรให้ถึงขั้นแก่กล้าสูงสุด.
.
เมื่อสามารถทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไรต่อไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
.
อุปฺปนฺนานํ กุสลานํ ธมฺมานํ ฐิติยา อสมฺโมสาย
ภิยฺโยภาวาย เวปุลฺลาย ภาวนาย ปาริปูริยา ฉนฺทํ
ชเนติ วายมติ วิริยํ อารภติ จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ
.
แปลได้ใจความว่า "เพื่อการทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ดำรงคงอยู่ ไม่ให้เสื่อม ไม่ให้เลือนหาย ตรงกันข้ามเป็นการทำให้กุศลทั้งหลายเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างสมบูรณ์ ไพบูลย์จนถึงขั้นสูงสุด บริบูรณ์อย่างเต็มที่มั่นคงทุกสัดส่วน ดังนี้
.
ในภาคปฏิบัติความเพียรถูกต้องข้อที่ ๔ นั้น ผู้ปฏิบัติยินดีเพียงแค่กำหนดอารมณ์กามาวจรกุศลยังไม่พอ ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์บัณฑิตชนคนมีปัญญา ที่ต้องการมรรคผลนิพพาน
.
เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย ควรสร้างและใช้ความเพียรอันเป็นศักยภาพแห่งตนให้ยิ่งๆขึ้น จนถึงขีดสูงสุด
.
กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติได้ขจัดอกุศล คือ คิดนึก หงุดหงิด รำคาญ ไม่พอใจ ขี้เกียจ ฟุ้งซ่าน เพ่ง เกร็ง บังคับ เป็นต้น ให้ดับลงแล้ว
.
และสร้างกุศลให้เกิดขึ้นมา คือ กำหนดอยู่กับอาการพอง-ยุบ อาการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส เหยียดคู้ เจ็บ ปวด ชา ร้อนเย็น เป็นต้น
.
ในภาคกัมมัฏฐานความเพียรตรงนี้เป็นเรื่องของปฏิบัติการมี ๔ ขั้นคือ
๑. การรักษากุศลที่ได้แล้วไม่ให้เสื่อม
๒. ทำให้กุศลที่รักษาได้แล้วนั้นเข้มแข็ง แข็งแกร่ง มั่นคงอย่างไพบูลย์ไม่มีข้อบกพร่อง
๓. พัฒนากุศลที่เข้มแข็งมั่นคงอย่างไพบูลย์แล้วนั้นให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป...ยิ่งขึ้นไปถึงไหน
๔. ไปถึงขีดแก่กล้าอย่างสูงสุด อย่างบริบูรณ์ทุกสัดส่วน ทุกแง่มุมของกุศลที่เป็นองค์ประกอบ อย่างชนิดที่เรียกว่า หาข้อบกพร่องเป็นเศษเหลือให้เห็นไม่มี หรือที่เรียกว่าแก่กล้าเต็มที่แล้ว
.
ธรรมเทศนาจาก
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08