สัมมาวายาโม : เพียรถูกต้อง คืออย่างไร.ในเพียรถูกต้องนี้ ทรงแบ่งออกเป็น


สัมมาวายาโม : เพียรถูกต้อง คืออย่างไร
.
ในเพียรถูกต้องนี้ ทรงแบ่งออกเป็น ๔ ข้อ
เพียรถูกต้องข้อที่ ๑
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
กตโม จ ภิกฺขเว สมฺมาวายาโม
ภิกษุทั้งหลาย เพียรถูกต้องเป็นอย่างไร
.
อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อนุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ
อกุสลานํ ธมฺมานํ อนุปฺปาทาย
.
ภิกษุทั้งหลาย ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์
ในศาสนธรรมคำสั่งสอนนี้
เพื่อป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้มันเกิดขึ้น
.
กำหนดอะไร
กำหนดอยู่ในปริกรรมนิมิต
หรืออารมณ์ที่เป็นกามาวจรกุศล
ที่เป็นอุคคหนิมิตในขณะนั้น เช่น
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ที่เป็นปรมัตถ์
.
ใช้ปริกรรมภาวนาและทำปฏิภาคนิมิตให้ถูกต้อง
มรรค ๘ จะเกิดขึ้น สามารถป้องกันรักษา
พื้นที่ของปริกรรมนิมิตที่กำหนด
ให้คงความเป็นกุศลอยู่
.
คุณสมบัติของผู้จะทำงานตรงนี้สำเร็จ คือ
ฉนฺทํ ชเนติ : ต้องเต็มใจกำหนด
.
วายมติ : ต้องเพียรกำหนด
คือต้องเพียรประคอง ความเพียรไว้ไม่ให้ตกต่ำ
.
วิริยํ อารภติ : ต้องปรารภความเพียร
คือต้องพัฒนาความเพียรให้ยิ่งยวดขึ้นไป
จนถึงความเพียรแก่กล้าที่สุด
ไม่มีช่องว่างให้กิเลส
แม้แต่โมหะอวิชชาเข้าได้เลย
ใจเข้าถึงแดนแห่งความบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์
.
เทคนิคการทำ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ปทหติ
ความรู้สึกหรือทุกข์ หรือจิตอยู่ที่ไหน
กำหนดที่นั่น แล้วตรงนี้ต้องกำหนดอะไร
ถึงจะสามารถป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้มันเกิด
.
ตรงนี้ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดอารมณ์
ในส่วนที่เป็นรูปาวจรกุศล
ซึ่งเป็น สัมมาสังกัปปะ จำได้ไหมมีอะไรบ้าง
.
ส่วนที่เป็น สัมมาสังกัปปะ
คืออารมณ์ที่เป็นกลางทั้งหลาย ที่เรียกว่า
มหาภูตรูป คือ ก้อนที่อุปาทายรูปอาศัยเกิดขึ้นพร้อมได้
.
ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
รูปารมฺมณํ วา
สทฺทารมฺมณํ วา
คนฺธารมฺมณํ วา
รสารมฺมณํ วา
โผฏฺฐพฺพารมฺมณํ วา
ธมฺมารมฺมณํ วา ยํ ยํ วา ปนารพฺภ
.
ในส่วนที่เป็นกามาวจรกุศล
เมื่อจิตท่องเที่ยวอยู่แล้วได้บุญ
นั่นคือกำหนดในส่วนที่เป็นอาการเห็น
อาการได้ยิน อาการได้กลิ่น อาการรู้รส
อาการถูก โดน ชน กระทบ เคลื่อน นิ่ง
พอง-ยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่าง เหยียด คู้
เคี้ยว กลืน เหลียว หัน ก้ม เงย เจ็บ
ปวด มึน ชา คัน เมื่อย ร้อน เย็น แน่น ตึง
.
คือ กำหนดอารมณ์ที่เป็นกลางเหล่านี้
ที่เกิดขึ้นทีละอารมณ์ ติดต่อกันจนไม่มีช่องว่าง
เมื่อไม่มีช่องว่างเลย อกุศลเข้าได้ไหม เข้าไม่ได้
ฉะนั้นจิตจึงยังคงความสะอาดเป็นกุศลอยู่
.
ธรรมเทศนาจาก
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08