อทินฺนาทานา เวรมณี คืออย่างไร..อทินฺนาทานา เวรมณี งดเว้นจากทานที่ไม่ได้ให้หมายความว่าเขายังไม่ให้


อทินฺนาทานา เวรมณี คืออย่างไร.
.
อทินฺนาทานา เวรมณี งดเว้นจากทานที่ไม่ได้ให้
หมายความว่าเขายังไม่ให้
แต่เราฉวยโอกาสยึดมาเอง
.
ในภาคกัมมัฏฐาน..อทินนาทานนั้น
เป็นเรื่องของการทำงานที่มีความบกพร่อง
ในประสิทธิภาพ คุณภาพ และปริมาณ
.
ปัญหาส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ความบกพร่อง
ในเทคนิคการทำปฏิภาคนิมิต
และเทคนิคการปรับอินทรีย์
.
กล่าวคือในขณะลงมือทำนั้น
การจัดการเพื่อประสานงานระหว่าง
ปริกรรมนิมิต คือ อารมณ์ปรมัตถ์ที่ใช้
เป็นอุปกรณ์ในกำหนดให้มรรค ๘ เกิด
มีอาการเห็น อาการได้ยิน เป็นต้น
.
ที่กำลังปรากฏเป็น "อุคคหนิมิต"
เห็นประจักษ์ในปัจจุบันนั้นกับ
ปริกรรมภาวนา คำที่ใช้กำหนดหรือภาวนาขณะนั้น
ถูกต้องตรงตามปริกรรมนิมิต
ที่ทรงบัญญัติไว้เป็นปริยัติภาษา
ที่เรียกว่า"ตถาบัญญัติ" หรือไม่
.
และในขณะที่กำหนดหรือภาวนานั้น
คำกำหนดที่เรียกว่า "ปริกรรมภาวนาในขณะนั้น"
ต้องเทียบได้สนิทพอดีกับ"ปริกรรมนิมิต"
(อารมณ์กัมมัฏฐานที่กำลังปรากฏจริง
เป็นอุคคหนิมิต ณ ปัจจุบันอย่างพอดิบพอดี
อย่างทั่วถึงบริบูรณ์
เต็มเปี่ยมทั้งพื้นที่ของปริกรรมนิมิตนั้น
ที่เรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต"
กล่าวคือต้องไม่ก่อนหรือหลัง
เร็วกว่าหรือช้ากว่า ต้องพอดีๆกันทั้งหมด
.
สัมมากัมมันตะจึงเป็นการทำให้
ปฏิภาคนิมิตเกิดได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
.
เรื่องนี้อาจารย์ตรวจดูพวกเราแล้ว
การเคลื่อนมือก็ดี การเคลื่อนเท้าก็ดี
เร็วกว่าปากกำหนดนะ
ดูให้ดีนะ ทดสอบเลยก็ได้
.
เหยียด...หนอ ถูกไหม...ไม่ถูก
ผิดตรงไหนบ้าง
มือมันไปก่อนใช่ไหม
แล้วปากพูดทีหลัง
ผิดที่เดียวไหมหรือผิดหลายที่
.
หนอแล้วยังไม่หยุดใช่ไหม
มันต้องสามัคคีช่วยกันดู
คนนู้นเห็นตรงนี้บ้าง
คนนี้เห็นตรงโน้นบ้าง
หลายๆ คนช่วยกัน
ก็เห็นรอบคอบถี่ถ้วนขึ้น
.
เพราะฉะนั้นปฏิภาคนิมิตต้องอย่างนี้เลย
เหยียด...หนอ (แสดงอาการเหยียด พร้อมออกเสียงคำบริกรรม)
เข้าใจไหมล่ะ..อย่างนี้ถึงจะร้อยเปอร์เซ็นต์
ไม่ใช่เหยียดหนอไปทางไหนก็ไม่รู้
.
กลัวเขาจะว่าก็เลยท่องเอา
ครูพักลักจำไม่ได้นะต้องเป๊ะ
ต้องเป็นศิษย์มีครู
.
อย่างนี้ปฏิภาคนิมิตจะทาบสนิทกับอาการใช่ไหม
คำบริกรรมก็ตรงพอดีกันเป๊ะ
รับประกันคุณภาพ มรรคไม่เสียหาย
ไม่อย่างนั้น เหยียดหนอตรงนี้
อาการเกิดตั้งนานแล้ว แต่ปากยังไม่ว่าใช่ไหม
โดนคอรัปชั่นหรือยัง
.
ถ้าเป็นการจ้างทำถนน
เงินก็จ่ายแล้วแต่ของไม่ได้ ถนนไม่เสร็จ
เหยียดแค่นี้คุ้มไหม สามคะแนนได้คะแนนเดียว
ได้นิดเดียวไม่ถึงเต็ม
.
แล้วหนอคืออะไร
หนอคือนิ่งแล้ว แต่นี่อะไร ยังเคลื่อนอยู่
แสดงว่าวาจาเป็นข้อไหน
มุสา ปิสุณา ผรุสา หรือสัมผัปปลาปะ
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
อันไหน วาจาเป็นอันไหน
.
เสร็จแล้วงานนี้
เดี๋ยวเข้ากัมมัฏฐานไปเจอพญามารจะรบกันถูกหรือนี่
จะสู้ได้อย่างไร แค่เลือกอาวุธก็ไม่ถูกแล้ว
เลือกกระบี่ไม่ถูก ต้องเลือกกระบี่ให้ถูก
แล้วต้องฟันให้ตรง แม่นยำ ด้วยนะ
.
เลือกปริกรรมนิมิตไม่ถูก
คำที่จะใช้บริกรรมให้ตรงนิมิตไม่ถูก
วาจาเป็นอะไร อย่างนี้คือมุสาแล้ว
.
เพราะอะไร..เพราะอาการมันเคลื่อน
แต่ปากบอกว่านิ่งใช่ไหม
อย่างนี้เขาเรียกว่า...มุสา
.
ถ้าหากว่าเป็นเพ้อเจ้อคือ
มันไม่มีเลย แต่ทำท่ากำหนดเหมือนว่ามีอยู่
ตัวอย่างเช่น พอง-ยุบไม่มี
แต่เจ้าของนั่งท่องเฉยๆ
อาการพอง-ยุบจริงๆ ไม่มีเลย
ท่องเอาเองเหมือนอย่างกับว่า
กำหนดพอง-ยุบจริงๆ
.
อย่างกับท่องคาถาอาคมนั่นแหละ
เพราะอย่างนั้นถึงได้ชื่อว่า...เพ้อเจ้อ
ท่องเอาอย่างนี้ไม่ได้ชื่อว่ากำหนด
อันนี้มรรคเสีย มรรคไม่เกิด
.
มรรคเกิดได้จริงแค่เหยียดตรงนี้
แค่นี้แล้ว หนอตรงนี้ มรรคก็เสีย
.
เพราะฉะนั้นนี่ข้างหน้าโดนคอรัปชั่น
ข้างหลังโดนช่อราษฎร์บังหลวง
อทินนาทานเข้าหรือยัง..
เรียบร้อย ..มรรคไม่เกิด
.
มันเกิดแค่นี้เองนอกนั้นไม่เกิดเลย
แล้วจะคุ้มไหมล่ะ ต้องทำให้มรรคเกิดเต็มๆเลย
สตางค์หนึ่งเราก็ไม่ยอมให้คอรัปชั่น
.
ต้องละเอียดถี่ถ้วนแบบนี้เลย
คุณภาพจึงจะดี
มรรคจะมีแรงมีพลังมาก
ประหารอกุศลและรักษากุศลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
อย่างนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมากมฺมนฺโต"
อย่างนี้แลผู้เห็นภัยทั้งหลาย
เรียกว่า..."การทำงานถูกต้อง"
.
ธรรมเทศนาจาก
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08