คำประชด...เป็นวาจาอย่างไร.คำหยาบอีกชนิดหนึ่ง คือ คำประชด


คำประชด...เป็นวาจาอย่างไร
.
คำหยาบอีกชนิดหนึ่ง คือ คำประชด เจตนาพูดยกให้สูงขึ้น หรือประคองไม่ยอมให้ต่ำลง เป็นการบังคับเพื่อสร้าง หรือเพื่อช่วยผลักดันให้เด่นขึ้น หรือประคองไว้ด้วยกามไม่ให้เสื่อมลง
.
เป็นการสร้างนิจจัง ฝืนการเป็นไปตามอำนาจไตรลักษณ์ บังคับให้คงอยู่ด้วยอำนาจของอภิชฌา
.
อย่างเช่น พอง-ยุบนี่ เราไม่อยากให้เขาหาย พอง-ยุบจะหายก็ประคองรักษาไว้ คำกำหนดที่เกิดพร้อมนี้ จึงเป็นคำหน่วงรั้งประคองไม่ให้พอง-ยุบหาย ด้วยอำนาจของความพอใจในพอง-ยุบ
.
เป็นการเบียดเบียนประคองพอง-ยุบ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงด้วยพอใจรักใคร่อย่างนี้ท่านเรียกว่า "ประชด" ตรงนี้วาจาที่ใช้ในขณะนั้น จะลดกำลังลง
.
สังเกตไหม เช่น กำหนดพองหนอ ยุบหนอ พองหนอ ยุบหนอ พอพอง-ยุบเบาลง ก็กำหนดเบาลงดhวยใช่ไหม นั่นแหละคือเราประคอง
.
เมื่อพลังกำหนดเบาลง วิริยะจะเริ่มขาด แล้วเดี๋ยวเราก็หลับไปเลย
.
ที่จริงพอง-ยุบเบาลง ให้กำหนดว่า รู้หนอ รู้หนอ ใช่หรือเปล่า แต่ตอนนั้นเราลืมที่ครูบอกไปแล้ว เราเอาตัวเราเองเป็นอาจารย์แล้วใช่ไหม ครูบอกรู้หนอ รู้หนอ เข้มแข็งไว้วิริยะก็ไม่ขาด "เป็นการแก้คำประชด"
.
แต่ทีนี้เราอยากได้พอง-ยุบ เราก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอ พอพอง-ยุบเบาลง ก็ยังกำหนดพองหนอ ยุบหนอ ลดกำลังเบาตาม เพื่อประคองพอง-ยุบอันเป็นที่รักไว้ เพราะฉะนั้นมันเลยเผลอ นั่งเฉยซื่อบื้อเงียบไปเลย
.
เมื่อก่อนนั้นถ้าเงียบอย่างนี้ จะไม่รู้เลยว่าสมาธิเสีย จะเข้าใจว่า...ตอนนี้จิตเรามันเฉยแล้ว นิ่งแล้ว เป็นเอกัคคตาแล้ว นี่แสดงว่าเรามีสมาธิแล้ว ปีติเข้าแล้ว สุขเข้าแล้ว กำลังคิดอยู่ก็วิตกก์ วิจารแล้วนี่ ปฐมฌานถึงแล้ว ความจริงในขณะนั้นสมาธิเสียอยู่ เข้าใจผิด
.
ฉะนั้น ตรงนี้ถ้าเราไปประคอง วาจาจะเป็นประชด ยกเกินพอดีใช่ไหม เช่น เป็นเจ้านาย ลูกน้องดื้อพูดไม่รู้เรื่อง โมโหขึ้นมาก็พูดกับลูกน้องว่า ?ครับเจ้านายกระผมจะเชื่อฟัง? ยกเกินพอดีคือประชดขึ้นมาแล้ว
.
"ผรุสา วาจา" คำหยาบในกลุ่มมิจฉาวาจาประเภทประชดนี้ จะเกิดพร้อมกับกาเมสุมิจฉาจาร ในมิจฉากัมมันตะ เป็นมิจฉาวาจา ใช้ภาวนาแล้วมรรค ๘ ไม่เกิด ไม่เรียกว่า "กำหนด"
.
เพราะฉะนั้น เวลากำหนดห้ามไปประคองเขา แต่เราต้องบังคับตัวเองให้ขะมักเขม้น ถ้าไม่ขะมักเขม้นไม่ได้นะ กำหนดไม่ตื่นตัววิริยะขาด เดี๋ยวนั่งเฉยเลย นั่งหลับแล้ว ไม่ได้อะไร ตรงนี้ขาดทุน
.
ผรุสา วาจา คือคำหยาบนี้ เป็นมิจฉาวาจา เวลากำหนดต้องงดเว้น ไม่ใช่ปริกรรมภาวนา ทำแล้วมรรค ๘ ไม่เกิด
.
ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ผรุสายะ วาจายะ เวรมณี" เจตนาต้องการงดเว้นจากคำหยาบ คือ กำหนดเขาตามปกติ จึงจะเป็นสัมมาวาจา มรรค ๘ จึงจะเกิด
.
ธรรมเทศนาจาก
หลวงพ่อชัชวาล ขินสโภ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08