ผรุสา วาจา (คำหยาบ)เป็นวาจาอย่างไร..เป็นเจตนาพูดคำหยาบ คือต้องการพูดเพื่อให้ครูดสี


ผรุสา วาจา (คำหยาบ)เป็นวาจาอย่างไร.
.
เป็นเจตนาพูดคำหยาบ คือต้องการพูดเพื่อให้ครูดสี เบาความเด่นของอารมณ์ให้เศร้าหมองลง ผู้พูดเจตนาให้ผู้ที่ตนพูดด้วยหรือ ผู้ที่ตนกล่าวถึงเกิดความเจ็บแสบทรมาน เช่น เวลาปวดขึ้นมา เราอยากให้ปวดหาย กำหนดปวดหนอ ปวดหนอ
.
คำกำหนดพยายามเน้นหนักที่ปวดไปด้วย เพื่อครูดสีบังคับให้ปวดหายหรือเบาไป เหมือนเอากระดาษทรายหยาบๆไปถู ความคมของกระดาษทรายจะครูดสีให้สิ่งที่ถูกถูหดเหี้ยนบางเบาลงไป
.
เหมือนเป็นการปรามไม่ให้เด่นทาบรัศมีอะไรทำนองนั้น ในที่นี้เพื่อต้องการบังคับให้ปวดเบาบางหมดความเด่นลง คำพูดที่ใช้ในขณะครูดสีปวดนั้นเรียกว่า "คำหยาบประเภทที่ ๑"
.
คำภาวนาอย่างนี้ถ้านำมาใช้กำหนด มรรค ๘ ไม่เกิด ไม่ใช่ปริกรรมภาวนาสภาวะที่ปรากฏตามความเป็นจริงขณะนั้น คืออาการเน้นให้ปวดหาย
.
ดังนั้น การเพ่ง การเกร็ง การบังคับ เพื่อให้ปวดหายหรือเพื่อคลายความเข้มของปวดลง จึงเป็นต้นเหตุของ "ผรุสาวาจา"
.
การเพ่ง เกร็ง บังคับนี่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า ?วิเนยฺย? พึงขจัดให้หมดไปเสีย ไม่ใช่มัวแต่ขจัดปวดอยู่
.
อีกอย่างหนึ่งการที่ไปเพ่ง เกร็ง บังคับ เพื่อให้ปวดหายไป อัตตาเข้าหรือยัง
พระพุทธเจ้าให้ใช้อนัตตา เราไปใช้อัตตามันจึงไม่ถูก ผิดสูตรของพระพุทธเจ้า ตรงนั้นไม่ตรง ต้องใช้ให้ตรง ให้ถูกต้อง
.
คือถ้าปวดเกิดขึ้นให้กำหนดปวดตามปกติ ไม่ให้เพ่ง เกร็ง บังคับหรืออย่างอื่นๆ เพื่อให้ปวดหาย แต่ถ้าเผลอปล่อยให้การเพ่ง เกร็ง บังคับ เป็นต้น เกิดขึ้นมาได้แล้วต้องกำหนดที่การเพ่ง เกร็ง บังคับ ฯลฯ เหล่านั้น เพื่อดับมัน
.
เมื่อดับมันได้ผรุสาวาจาจะหายไป "กลายเป็นสัมมาวาจา" ไม่ใช่กำหนดบังคับที่ปวดเพื่อให้หายอยู่ เพราะเมื่อบังคับเท่าไหร่ ปวดก็ไม่ยอมหายสักที
.
เป็นอย่างไร ตรงนั้นใจท้อถอย เหี่ยวแห้ง หมดเรี่ยวหมดแรง ขี้เกียจ ขี้คร้าน นั่งง่วง นั่งเหงา นั่งหงอยไปทุกวัน แล้วเป็นอะไรขึ้นมา โสกะเข้ามาแล้วใช่ไหม
.
ทุกข์ทั้ง ๕ ประเภท จำได้ไหม มีโสกะใจเหี่ยวแห้งหมดแรงใจ เป็นต้น ใช่ไหมที่เกิดขึ้น เพราะอย่างนั้นเราต้องบังคับตัวเองให้ฮึดขึ้น วิริยะจึงจะมา
.
แต่ห้ามไปกำหนด ในลักษณะที่เค้นปวด บังคับปวด เหมือนอะไร เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนชกมวยกับกระจก ตัวเราออกกำลังเต็มที่ชกแรงๆ ได้เพราะเป็นการออกกำลังกาย ทำให้เราขยันใช่ไหม แต่ห้ามชกโดนกระจกนะ หากโดนเมื่อไหร่ ผิดกติกาทันทีเลยใช่ไหม กระจกแตกแน่นอน
.
เราออกกำลังกายได้เพื่ให้มีกำลัง เพื่อให้เหงื่อออกยิ่งต้องการกำลังมาก ก็ต้องบังคับตัวเองให้ขยันออกกำลังกายบ่อยๆ นานๆ และต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
.
ถ้าชกแบบป้อแป้อย่างนี้ วิริยะขาด การตื่นตัวขาด กำลังลด ถือว่าผิดสูตร ฉะนั้น ห้ามชกโดนกระจก แต่ต้องออกกำลังชกแรงๆ ไม่อย่างนั้นเราจะป้อแป้หมดแรงไปเอง
.
ดังนั้น ผรุสาวาจา (คำหยาบ) คือไปกดเขา เวลากำหนดไปครูด ไปสีด้วยอำนาจของโทสะ อยากให้เขาหาย พออยากให้เขาหาย สังกัปปะก็เป็นเบียดเบียนแล้วใช่ไหม
.
แต่ตอนนั้นเรารู้ไม่ทัน พอรู้ไม่ทัน วาจาก็พูดไปตามนั้น อยากให้หายด้วย กดเขาไปด้วย พอเรากดวาจา กลายเป็นคำหยาบทันที อยู่ในลักษณะของการกดให้เลวลง กดให้หายด้วยอำนาจของโทมนัส ความเสียใจ ไม่พอใจ
อยากให้เขาหายเกิดพร้อมกับปาณาติบาต "เป็นมิจฉากัมมันตะ" นั่นแหละ อย่างนี้มรรค ๘ ไม่เกิด
.
ธรรมเทศนาจาก
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08