ทำไมต้องกำหนด.อารมณ์กัมมัฏฐานในกลุ่มที่เป็นกามาวจรจิตซึ่งเป็นกลางจะเป็นอาการเห็น


ทำไมต้องกำหนด
.
อารมณ์กัมมัฏฐานในกลุ่มที่เป็นกามาวจรจิตซึ่งเป็นกลาง
จะเป็นอาการเห็น อาการได้ยิน อาการได้กลิ่น
อาการรู้รส อาการถูก โดน ชน กระทบ เคลื่อน นิ่ง
พอง-ยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่าง เหลียว หัน เหยียด คู้ ก้ม เงย
หรืออาการเจ็บ ปวด มึน ชา คัน เมื่อย แน่น ตึง
.
อะไรพวกนี้ เราก็สามารถกำหนดเขาได้ตลอด
เหมือนกับพองยุบทุกประการ
ยกเว้นที่ไปท่องเที่ยวในอกุศลอยู่ เช่น
พอใจ เป็นต้น หรือไปเพ่ง เกร็ง บังคับให้หาย
.
ตัวนี้เป็นกลุ่มของอกุศล เป็นมิจฉาสังกัปปะ
ต้องกำหนดให้หายไป จึงจะได้ส่วนที่เป็นกุศลคืนมา
.
ตัวอย่างเช่น กำหนดพองหนอ ยุบหนอ
ปรากฏว่า ปวดเกิดขึ้น เรามัวช้าอยู่ไม่ทันกำหนด
ความไม่พอใจปวด(พยาบาท) เกิดแซงหน้าขึ้นไปก่อน
จิตย้ายไปที่ไม่พอใจ
.
พยาบาทเป็นมิจฉาสังกัปปะเกิดแล้ว วาจาต้องใช้ตาม
มิจฉาสังกัปปะนั้นนั่นแหละ คือ ไม่พอใจหนอ พอกำหนด
ไม่พอใจหนอ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ สติ สมาธิ
มรรคทำงานทันที เกิดพร้อมกันในขณะจิตเดียวกัน
.
เมื่อใดก็ตามที่เรากำหนด เมื่อนั้นเขาเกิดทันที
ตรงนี้ พระอานนท์ บอกว่า
ปริคฺคหฏฺเฐน เพราะการกำหนด
สมฺมาวาจา ชื่อว่าวาจาถูกต้อง
มคฺโคสญฺชายติ มรรคจึงจะเกิดมาพร้อม
.
ฉะนั้นถ้าไม่กำหนด มรรคไม่เกิด เมื่อมรรค ๘ เกิดแล้ว
จะทำหน้าที่ประหารอาการพอใจในทันที
พร้อมกับที่มรรคเกิดขึ้น อาการพอใจดับลง
ความรู้สึกพอใจดับลง
.
กระบวนการพรากจากกามเกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์
มิจฉาสังกัปปะกลับกลายมาเป็นสัมมาสังกัปปะ
อย่างบริบูรณ์พร้อมเช่นกัน
อาการพอใจดับ มรรค ๘ เกิด
ความรู้สึกพอใจดับ นิโรธเกิด
อริยสัจ ๔ ครบ สัมมาทิฏฐิบริบูรณ์
.
หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ
อธิบดีสงฆ์แห่งพุทธวิหาร ศูนย์กลางการศึกษาวิปัสสนาธุระ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08