"วิปัสสนาดับทุกข์ได้ในระดับชั่วคราวได้อย่างไร"โยคีบุคคลเมื่อปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักวิชาการตรัสรู้เพื่อดับทุกข์อย่างถูกต้องแล้วถึงแม้ไม่ถึงมรรคผลนิพพาน


"วิปัสสนาดับทุกข์ได้ในระดับชั่วคราวได้อย่างไร"
โยคีบุคคลเมื่อปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักวิชาการตรัสรู้เพื่อดับทุกข์อย่างถูกต้องแล้วถึงแม้ไม่ถึงมรรคผลนิพพาน โลกุตรมรรค สมุจเฉทนิพพานการดับกิเลสได้โดยเด็ดขาด ยังไม่อาจถึงได้ แต่เมื่อทำให้ถูกต้อง ปุพภาคมรรค โลกียาริสัจ ตทังคปหาน ตทังคนิโรธ และตทังคนิพพาน ก็เกิดได้

ดังนั้นการดับกิเลส ถึงแม้ว่าไม่เด็ดขาด แต่จิตก็สะอาดอยู่ระยะหนึ่ง ถ้าสามารถมีวิริยะอุตสาหะทำให้เคร่งครัดขึ้น เรียบร้อยขึ้น อินทรีย์พื้นฐานแก่ขึ้น พละอินทรีย์สนับสนุนมรรคมีกำลังมากขึ้น

วิปัสสนาญาณสูงขึ้นก็สามารถให้ถึงวิกขัมภนปหาน วิกขัมภนนิโรธ วิกขัมภนนิพพานได้ กิเลสที่ถูกดับไปแล้ว ด้วยพละและมรรค สมาธิอินทรีย์พื้นฐานมีกำลังมากแล้ว ก็จะอุ้มไว้ป้องกันไว้ สะกดไว้ ทำให้กิเลสเกิดได้ช้าขึ้น เพื่อความเหมาะสมในการรองรับสมุจเฉทนิพพาน

ตทังคนิพพาน เมื่อฝึกจนชำนาญดีแล้ว นอกจากสามารถช่วยเหลือตนเองให้ปิดอบาย ไม่ต้องไปเกิดในนรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย คือสามารถทำให้ตนเองเกิดในมนุษย์หรือสวรรค์ได้แล้ว ยังมีอานิสงส์ทำให้เป็น

?ติกขบุคคล? คือบุคคลผู้มีปัญญาแก่กล้า หรืออัจฉริยะบุคคลอีกด้วย และมีโอกาสได้มรรคผลนิพพาน อย่างน้อยที่สุดพระโสดาบันในภพนั้น ถ้าได้ปฏิบัติกับครูที่รู้วิปัสสนาอย่างถูกต้องในภพที่ไปเกิดแล้ว
ส่วนวิกขัมภนนิพพาน เมื่อฝึกและรักษาไว้ได้ดีแล้ว สามารถปิดอบายภูมิ และสามารถให้ไปเกิดในพรหมโลกได้ตามอำนาจของสมาธิพื้นฐานนั้นๆ รวมถึงทั้งจะได้เป็นพรหมที่เป็นติกขบุคล สามารถทำวิปัสสนาต่อได้เองจนถึงมรรคผลนิพพาน

ถึงแม้ว่าจะอยู่อรูปพรหมก็ตาม ตทังคนิพพาน และวิกขัมภนนิพพาน ป้องกันตัวเองจากอบายได้อย่างไร คงต้องทำความเข้าใจตรงนี้เลยตามหลักฐานที่ปรากฏในอภิธัมมปิฎกอรรถกถาวิภังควรรณนา ปฏิจจสมุปบาท

กล่าวไว้ว่า สงฺเขปโต ปฏิสนฺธิยา ตีณิ อารมฺมณานิ โหนฺติ กมฺมํ กมฺมนิมิตฺตํ คตินิมิตฺตนฺติ. ซึ่งแปลเป็นใจความได้ว่า ?อารมณ์ในการปฏิสนธิ? ว่าโดยย่อมี ๓ คือ กรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต

โดยขยายความว่า กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ที่ได้กระทำแล้วชื่อว่า กรรม การทำกรรมเกิดขึ้นด้วยสิ่งใด สิ่งใดเป็นเหตุแห่งการทำกรรม สิ่งนั้นชื่อว่ากรรมนิมิต ภาพอย่างหนึ่งของภูมิแห่งสัตว์ที่จะไปเกิดปรากฏขึ้น ชื่อว่า คตินิมิต

หลวงพ่อชัชวาล ชินสโภ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08