"การแสวงหาและการเรียนรู้"ในที่สุดเมื่อสิทธัตถโพธิสัตว์ไม่ทรงพบครู


"การแสวงหาและการเรียนรู้"

ในที่สุดเมื่อสิทธัตถโพธิสัตว์ไม่ทรงพบครู จึงทรงหันมาแสวงหาด้วยพระองค์เอง โดยเสด็จมาที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์นี่แหละ เมื่อมาถึงแล้วทรงศึกษาวิชาในลัทธิของพราหมณ์ฮินดู ซึ่งก็คือลัทธิของพวกปัญจวัคคีย์นั่นเอง
.
แต่ก่อนนั้นตอนที่ไปเรียนกับคนอื่น กลุ่มปัญจวัคคีย์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ พอมาถึงตอนนี้ปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้าก็ผันตัวขึ้นมาเป็นครู
.
โดยสอนอานาปานสติที่เป็นอานาปานะแบบบังคับลมหายใจให้ชัดเจน บังคับไปมาที่สุดเกิดอาการปวดศีรษะ แน่นหน้าอก ปั่นป่วนไปหมด จากนั้นยังให้เอาลิ้นดันเพดาน กลั้นลมหายใจ
ลูกศิษย์ชั้นยอดอย่างสิทธัตถโพธิสัตว์ ก็ทำตามอาจารย์ทั้ง ๕
.
ด้วยความเพียรอย่างเต็มกำลัง ถึงแม้ว่าพระวรกายจะกระสับกระส่ายอยู่ด้วยทุกขเวทนา แต่พระหฤทัยระงับไม่ดิ้นรน พระสติไม่ฟั่นเฟือน ไม่ท้อถอย เพื่อให้ได้สมาธิ มุ่งสู่ความรู้เพื่อดับทุกข์อย่างเดียว
.
แต่ก็ไม่สามารถสำเร็จได้ดังพระประสงค์ กลับปวดเศียรเวียน เกล้ามากยิ่งขึ้น ทรงเห็นว่านี่ไม่ใช่วิธี หากเกินกว่านี้คงสิ้นพระชนม์ ไปไม่ถึงมรรคผลนิพพานแน่ๆ
.
ฝ่ายปัญจวัคคีย์ก็เปลี่ยนวิธีการใหม่ไปเรื่อยๆ โดยลำดับ
จนถึงให้ทรงอดอาหาร ที่เรียกว่าบำเพ็ญตบะด้วยการ ถือศีลอด ตามแบบที่ปรากฏในเรื่องรามายณะหรือเรื่อง รามเกียรติ์ตอนหนึ่งว่า อินทรชิตต้องการศรพรหมาสตร์ จากพระพรหมเลยอดอาหาร ๘๐ หรือ ๘๑ ปีนี่แหละ ร้อนถึงพระพรหมต้องประทานอาวุธมาให้
.
ในที่นี้เหมือนกันตามประวัติกล่าวว่าปัญจวัคคีย์ ต้องการให้ร้อนถึงเบื้องบน คือพระอินทร์หรือพระพรหมนี่แหละ จึงใช้วิธีให้ทรงอดทีละน้อย ทีละน้อย ในที่สุดก็ไม่ได้เสวยเลย
.
จนกระทั่งเมื่อเอามือลูบตามพระวรกาย พระตจะและพระโลมา (หนังกำพร้าและขน) จะหลุดติดมือออกมาเลย เนื่องจากรากพระโลมาและพระตจะเริ่มเน่าเปื่อย พระนหารุ(เส้นเอ็น)ปรากฏชัดทั่วพระวรกาย ทรงผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก
.
เพื่อกดดันให้พระอินทร์หรือพระพรหมเป็นต้น เร่าร้อนตามแบบอย่างที่อินทรชิตเคยทำมา จะได้ประทานวิธีดับทุกข์ให้ตามปรารถนา
.
พวกเขาคงจะเข้าใจว่าพระพรหมพ้นทุกข์แล้ว น่าจะสามารถแนะนำวิธีทำให้พ้นทุกข์ได้กระมัง เหล่านี้เป็นความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ของพวกปัญจวัคคีย์ ปรากฏว่าสิทธัตถดาบส พระโพธิสัตว์ของเราทำจนเกือบจะสิ้นพระชนม์ ก็ไม่ทรงเห็นว่าจะดับทุกข์โดยถาวรได้แต่อย่างใด
.
พระธรรมจักรเทศนาฎีกา ตอนที่ : ๒
โดย พระครูภาวนาวิสุทธิคุณ วิ. (ชัชวาล ชินสโภ) พธ.บ ๓๕
อธิบดีสงฆ์ พุทธวิหาร ศูนย์กลางการศึกษาวิปัสสนาธุระ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08