ตอนที่ ๑๐ : ความเดิมจากตอนที่ ๙ ว่าด้วยลักษณะของอารมณ์ในส่วนที่เป็นปรมัตถ์


ตอนที่ ๑๐ : ความเดิมจากตอนที่ ๙ ว่าด้วยลักษณะของอารมณ์ในส่วนที่เป็นปรมัตถ์ กล่าวคือส่วนที่มีการเกิด การเสื่อม การดับ ได้แก่ส่วนที่ท่านเรียกว่า "อาการ"

หมวดที่ ๔ ว่าด้วย : ธรรมานุปัสสนา หมายถึงการตามเห็นสภาวธรรม พร้อมกับการทำให้มรรค๘ เกิด คำว่า ธรรมในธรรมานุปัสสนานั้น เป็นการนำเอากาย ในกายานุปัสสนา เวทนาในเวทนานุปัสสนา จิตในจิตตานุปัสสนามาจัดเข้าให้เป็นหมวดหมู่สอดคล้องกันเรียกว่า ปัพพะ พร้อมทั้งเติมเต็มความบกพร่องที่ขาดไปให้บริบูรณ์เรียบร้อย ตัวอย่างเช่น.

อายตนปัพพะประกอบด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีปรากฏในอภิธรรมสังคิณี พระอภิธรรมปิฎกตอนหนึ่งว่า

ยํ ยํ วา ปนารพฺภ ตสฺมึ สมเย ผสฺโส โหติ เวทนา โหติ สญฺญา โหติ... วิญฺญาณํ โหติ

อารมณ์ทั้งหลายได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม ปรมัตถ์คือ อาการเห็น อาการได้ยิน อาการได้กลิ่น อาการรู้รส อาการเคลื่อน อาการนิ่ง อาการเจ็บ อาการปวด อาการมึน อาการชา อาการคัน อาการเมื่อย อาการโกรธ อาการโมโห อาการดีใจ อาการเสียใจ อาการคิด อาการนึก เป็นต้น อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อาการเหล่านี้คือ รูปปรมัตถ์ เมื่อจิตปรารภคือเมื่อจิตเข้าไปจับ

พระพุทธองค์ตรัสแนะนำว่า ในเวลานั้น ผัสสะย่อมมี นี่เจตสิกนามที่ 1 เวทนา การเสวยอารมณ์ ย่อมมี นี่เจตสิกนามที่ 2 สัญญา การรู้อารมณ์ ย่อมมี นี่เจตสิกนามที่ 3 สังขาร การปรุงแต่งจิต ย่อมมี นี่เจตสิกนามที่ 4 วิญญาณ การรู้สึกตามอารมณ์ย่อมมี นี่จิตนาม

นั่นหมายความว่า ทันทีทันใดที่เห็นรูป ขันธ์ 5 ทั้งส่วนที่เป็นรูป และทั้งส่วนเจตสิกนาม และจิตนามครบบริบูรณ์แล้ว
โดยมีอาการเห็นเป็นรูปปรมัตถ์
จิตสัมผัสอาการเห็นเป็นผัสสะ
จิตเสวยอาการเห็นเป็นเวทนา
จิตรู้อาการเห็นเป็นสัญญา
รสแห่งอาการเห็นปรุงแต่งจิตให้รู้สึกเห็นเป็นสังขาร 4 อย่างนี้เป็นเจตสิกนาม
และความรู้สึกเห็นตามอาการเห็นเป็นวิญญาณ นี้เป็นจิตนาม

ในทำนองเดียวกันเมื่อใดการได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ถูก โดน ชน กระทบ เคลื่อน นิ่ง เจ็บ ปวด มึน ชา คัน เมื่อย ร้อน เย็น แน่น ตึง คิด นึก พอใจ ไม่พอใจ เป็นต้น ขันธ์ 5 ทั้งที่เป็นรูปปรมัตถ์ เจตสิกนามปรมัตถ์ และจิตนามปรมัตถ์เกิดขึ้นพร้อมกันแล้วทั้งหมด จะเห็นได้ด้วยปัญญาว่า

ขันธปัพพะเป็นการเอา กาย เวทนา จิต มาจัดให้เข้าหมวดหมู่เพื่อความเหมาะสม เพื่อความสะดวกในการแนะนำในแง่ไหนนั่นเอง แต่ทั้งหมดนั้นไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ก็คือขันธ์ 5 หรือรูป-นามนั่นเอง ในรูป-นาม สังขารนั้นส่วนสำคัญที่เกี่ยวกับทุกข์โดยตรงมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นรูป ได้แก่ อาการเห็น อาการได้ยิน อาการได้กลิ่น อาการรู้รส อาการถูกกระทบ อาการเคลื่อน อาการนิ่ง ฯลฯ อาการเจ็บ อาการปวด ฯลฯ อาการคิด อาการนึก อาการดีใจ อาการเสียใจ ฯลฯ และส่วนที่เป็นจิตนามหรือวิญญาณ คือส่วนที่รู้สึกตามอาการปรุงแต่งของรูปทั้งหลายเหล่านั้น .....ติดตามต่อตอนที่ ๑๑

วิธีเลือกธรรม #วิธีเลือกครู #เพื่อวิปัสสนาขององค์พุทธะ
โดย พระครูภาวนาวิสุทธิคุณ วิ. (ชัชวาล ชินสโภ) พธ.บ ๓๕
อธิบดีสงฆ์ พุทธวิหาร ศูนย์กลางการศึกษาวิปัสสนาธุระ


ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-11-08