ปฏิจฺจสมุปฺปาทสงฺเขปกถา


 

นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
อวิชฺชาปจฺจยา  สงฺขารา  สงฺขาราปจฺจยา  วิญญาณํ
วิญญาณปจฺจยา  นามรูปํ  นามรูปปจฺจยา  สฬายตนํ
สฬายตนปจฺจยา  ผสฺโส  ผสฺส – ปจฺจยา  เวทนา  เวทนาปจฺจยา
ตณฺหา  ตณฺหาปจฺจยา  อุปาทานํ  อุปาทานปจฺจยา  ภโว
ภวปจฺจยา  ชาติ  ชาติปจฺจยา  ชรามรณํ
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา  สมฺภวนฺติ  เอวเมตสฺส
เกวลสฺส  ทุกฺขกฺขนฺธสฺส  สมุทโย  โหตีติ.

 

    บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาในปฏิจจสมุปบาทกถาโดยสมควรแก่กาลเวลา ดำเนินความว่า
    ธรรมที่รู้ได้โดยยากในโลกมีอยู่ ๔ อย่าง คือ อริยสัจ ๑ สัตว์โลก ๑ ปฏิสนธิ ๑ ปฏิจจสมุปทา ๑ ธรรม ๔ อย่างนี้ เป็นธรรมที่รู้ได้ยาก ยากที่จะอธิบาย ยากที่จะแสดงให้เข้าใจได้ ณ ที่นี้จักแสดงเฉพาะปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียว
    ในปฏิจจสมุปบาทนั้น มีชาติความเกิด ชราความแก่และ มรณะความตาย รวมอยู่ด้วย จักเริ่มแสดงชาติชรามรณะนี้ก่อน ชาติ คือ ความเกิด เกิดขึ้นแล้วก็มีชรา เมื่อชราหนักขึ้นก็มีมรณะตามมาเป็นธรรมนิยามอยู่อย่างนี้
    มีผู้เข้าใจกันอยู่โดยมากว่า ผู้ที่จุติคือ มรณะไปแล้ววิญญาณไปล่องลอยอยู่ก่อนยังไม่ปฏิสนธิทันที ความเห็นอย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ที่จริงปฏิสนธิกับจุตินี้เกิดติดต่อกันทีเดียวโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย ที่เข้าใจว่าเมื่อคนตายแล้ววิญญาณออกจากร่างไปล่องลอยอยู่กลาง ๆ นั้น ทรรศนะอย่างนี้พระพุทธศาสนาปฏิเสธและจัดเป็นมิชฉาทิฐิอย่างหนึ่ง เรียกว่า อันตรภาวทิฐิคือ เห็นวิญญาณลอยอยู่กลาง ๆ พระพุทธศาสนาถือว่าพอจุติแล้ว ก็ปฏิสนธิต่อในทันทีนั้นโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย
    อธิบายว่า จุติกับปฏิสนธินี้ เมื่อว่าโดยฐานสมมุติว่าเป็นระยะทางแล้วก็จะรู้สึกว่าอยู่ห่างไกลกันมากมายทีเดียว เช่นเมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วตายไปเกิดเป็นเทวดาและพรหมตามลำดับขึ้นไปนั้น เทวดามีถึง ๖ ชั้น รูปพรหมมีถึง ๑๖ ชั้น และอรูปพรหมมีถึง ๔ ชั้น ยอดของภูมิชั้นสูงสุดนั้นได้แก่ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมนับว่าสูง หรือไกลไปจากมนุษย์โลกนี้อย่างมากมายเหลือหลาย แต่เมื่อว่าโดยกาลเวลาแล้ว มันก็แวบเดียวเท่านั้นเองแหละ คือพอจุติตายลงก็ปฏิสนธิเกิดทันที จะตายจากภูมิไหนไปเกิดในภูมิไหนไม่เลือกว่าสูงหรือต่ำ ไกลหรือใกล็ก็ตาม พอจุติแล้วก็ปฏิสนธิในทันทีทั้งนั้น แหละมนุษย์นี้พอตายแล้วอาจขึ้นไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมก็ได้ หรือเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมนั้นเมื่อจุติแล้วอาจกลับลงมาเกิดในมนุษย์ก็ได้ ถึงกระนั้นระยะกาลแห่งจุติกับปฏิสนธิก็ชั่วแวบเดียวเท่านั้น
    ถ้ามองดูโดยฐานะหรือโดยระยะทางกันแล้ว ก็จะเห็นว่าภูมิอันเป็นที่บังเกิดของสัตว์โลกนั้น มันช่างห่างไกลกันมากเหลือเกิน เพราะระยะทางแต่ละชั้นละภูมินั้นห่างไกลกันมาก จากมนุษย์ผ่านเทวดาและเทวดาแต่ละชั้น ๆ นั้นก็ห่างกันมาก จากเทวดาผ่านพรหมอีก พรหมแต่ละชั้นนั้นยิ่งห่างกันมากหนักขึ้น ยิ่งอรูปพรหมแต่ละชั้นก็ยิ่งห่างไกลกันมากอย่างเหลือประมาณทีเดียว แต่เมื่อว่าโดยกาลเวลาแล้วก็ชั่วขณะจิตเดียว คือแวบเดียวเท่านั้นเอง พอจุติจิตดับแล้วปฏิสนธิก็เกิดขึ้นทันทีในระยะกระชั้นชิดติดกันนั้น
    เพราะเหตุที่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า เมื่อคนตายแล้ววิญญาณก็ออกจากร่างไปเที่ยวล่องลอยไม่เกิดในทันทีนี้เอง ในบางลัทธิจึงมีการช่วยส่งวิญญาณผู้ตายด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ การกระทำอย่างนั้นเป็นวิธีไม่ถูกตามทรรศนะของพระพุทธศาสนา ที่ถูกนั้นพอจิตดับลงไปปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นทันที ทั้งนี้ด้วยอำนาจพลังงานแห่งกรรมเป็นผู้ส่ง หาได้มีผู้ใดใครอื่นมาจัดแจงให้ไม่ กรรมเขาจัดแจงของเขาเอง การที่เชื่อถือว่าวิญญาณล่องลอยไปมาอยู่นั้นเป็นการเข้าใจผิด และจัดเป็นอันตรายแก่ผู้ที่เชื่อถืออย่างร้ายแรงทีเดียว
    ก็แหละในจำพวกที่เชื่อถือว่า จุติกับปฏิสนธิเกิดสืบเนื่องติดต่อกันนั้น ก็ยังมีที่เข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่อีก คือบางพวกเข้าใจว่า จิตดวงที่จุติในภพนี้แล้ว ก็ไปปฏิสนธิเกิดในภพหน้าอีก ทรรศนะอย่างนี้ก็ยังไม่ตรงตามหลักของพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง พระพุทธศาสนาถือว่าจิต เจตสิกและรูปในภพนี้ก็ดับหมดในภพนี้ จิต เจตสิกและรูปในภพหน้าก็เกิดขึ้นในภพหน้า ไม่ใช่อันเดียวกัน แต่จะปฏิเสธว่าไม่สืบเนื่องกันก็ไม่ใช่ คือ จิต เจตสิก และรูปที่จุติดับไปในภพนี้นั่นแหละ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตพร้อมทั้งรูปเกิดในภพหน้า อุปมาเหมือนกับเมล็ดข้าวที่ชาวนาปลูกลงในที่นา มันเกิดเป็นต้นข้าว แล้วออกรวงเป็นเมล็ดข้าวขึ้นมา เมล็ดข้าวใหม่นั้นจะว่าเป็นเมล็ดข้าวอันเดียวกันกับเมล็ดข้าวที่ชาวนาปลูกลงไปนั้นก็ไม่ใช่ แต่จะปฏิเสธว่ามันไม่ได้สืบเนื่องมาจากเมล็ดข้าวนั้นก็ไม่ใช่ ฉันใดก็ดี จิต เจตสิก และรูปในภพนี้ก็ดับหมดในภพนี้ จิต เจตสิกและรูปในภพหน้าก็เกิดขึ้นใหม่ในภพหน้า จะว่ามันไม่สืบเนื่องกันก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นอันเดียวกันก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันฉันนั้น
    ถ้าเข้าใจว่า เมื่อคนตายแล้ววิญญาณออกจากร่างไปเกิดในภพใหม่อีก วิญญาณเก่าไม่ดับเกิดสืบต่อไปเรื่อย ๆ เพียงแต่ร่างกายเท่านั้นแตกดับสลายไป ส่วนวิญญาณไม่ดับไปเกิดในภพใหม่อีกทรรศนะอย่างนี้พระพุทธศาสนาเรียกว่า สัสสตทิฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นสิ่งเที่ยงยั่งยืนอยู่ตลอดไป จัดเป็นมิจฉาทิฐิอย่างรุนแรงประเภทหนึ่ง ถ้าเข้าใจว่าเมื่อคนตายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างสูญไปหมด มีชาติปัจจุบันนี้เป็นที่สุด ไม่มีอะไรไปเกิดอีก ทรรศนะอย่างนี้พระพุทธศาสนาเรียกว่า อุจเฉททิฐิ คือ ความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างสูญหมดอย่างสิ้นซาก จัดเป็นมิจฉาทิฐิอย่างรุนแรงอีกประการหนึ่ง และมีโทษมาก เพราะถ้าคนเราเห็นว่าชาติหน้าไม่มี ทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาปในชาตินี้แล้ว ก็ใครเลยจะไม่ทำบาป เพราะบาปมีเครื่องดึงดูดจูงใจให้ทำอยู่เป็นอันมากเหลือจะพรรณนา
    เมื่อเชื่อว่าคนตายแล้ววิญญาณไม่ดับไปเกิดใหม่ ก็ว่าเป็นสัสสตทิฐิ ซึ่งเป็นความเห็นผิดประเภทหนึ่ง เมื่อเชื่อถือว่า คนตายแล้วสูญสิ้นซากไม่มีอะไรไปเกิดใหม่ก็ว่าเป็นอุจเฉททิฐิ ซึ่งก็เป็นความเห็นผิดอีกประการหนึ่ง ถ้าเช่นนั้นพระพุทธศาสนาถืออย่างไร ?
    พระพุทธศาสนาถือว่า คนตายแล้วสูญก็มี คนตายแล้วเกิดก็มี อธิบายว่า พระอรหันต์จำพวกเดียวเท่านั้นที่ตายแล้วสูญ คือ พระอรหันต์นั้นเมื่อปรินิพพานแล้วก็ไม่เกิดเป็นการสูญสิ้นภพชาติกันเลย บุคคลอื่นจากนั้นนับตั้งแต่พระอนาคามีบุคคลลงมาตายแล้ว ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงถือว่า ที่เชื่อว่าตายแล้วสูญก็เป็นมิจฉาทิฐิที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก ก็เป็นมิจฉาทิฐิ ส่วนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีกก็มี ตายแล้วสูญไปก็มี นี้เป็นทางสายกลาง จัดเป็นสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามทรรศนะของพระพุทธศาสนา

 



ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-12-27