ปฏิจฺจสมุปฺปาทสงฺเขปกถา



    เพราะฉะนั้น การที่จะตัดให้ขาดตรงที่ผัสสะนั้นมันจึงยากหนักหนา ที่จริงนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องหมั่นหัดหมั่นทำให้ติดต่อกันไปโดยไม่ท้อถอย สำหรับผู้ที่เคยปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานมาแล้ว ครูบาอาจารย์ก็คงแนะนำวิธี ชี้แจงรายละเอียดให้เข้าใจ ทีละเล็กละน้อย เช่น เมื่อผู้ปฏิบัติบางคนพอเห็นรูปารมณ์เข้า ก็อดที่จะเห็นเลยไปเป็นหญิงเป็นชายเป็นชอบใจไม่ชอบใจไม่ได้ เมื่อเป็นดังนี้  ท่านอาจารย์ก็จะแนะนำว่า จงหลับตาเสียอย่าให้มันเห็น คือถ้ากำหนดเห็นเพียงแค่เห็นไม่ได้ ก็ให้หลับตาเสีย เปลี่ยนไปกำหนดอารมณ์อื่นต่อไป เป็นต้นว่าได้ยินเสียงบ้างได้กลิ่นบ้าง สุดแต่อารมณ์ใดจะมากระทบ เลี่ยงจากอารมณ์ทางตาไปเป็นอารมณ์ทางอื่นเสีย ความจริงการเห็นนั้น กำหนดได้ยากจริง ๆ ยากกว่าอารมณ์อย่างอื่นมากทีเดียว เมื่อเสียงมากระทบหูกำหนดเพียงสักว่าได้ยินเสียงนั้นดูจะง่ายกว่า แต่ถึงกระนั้นธรรมชาติก็ช่วยอยู่ กล่าวคืออารมณ์ทางตาที่ว่ากำหนดได้ยากกว่าเพื่อนนั้นก็มีธรรมชาติช่วยอยู่ คือ ถ้ากำหนดไม่ได้จริง ๆ ก็หลับตาเสียแล้วเปลี่ยนอารมณ์อื่นต่อไป
    อารมณ์ทางหูนั้นจะกำหนดได้ง่ายกว่า แต่มันก็ไม่มีอะไรปิด เมื่อตั้งใจจะฟังอยู่มันก็ได้ยินเรื่อยไป มันหลับไม่ได้เหมือนตา เพราะฉะนั้นอารมณ์ทางหูนี้ ถึงจะกำหนดได้ง่ายกว่าหน่อยก็จริง แต่มันก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องป้องกัน เมื่อผู้ปฏิบัติไม่ระวังแล้วมันก็ได้ยินเรื่อยไปเหมือนกัน จึงจำต้องหัดต้องทำให้ชำนิชำนาญอยู่ดี เมื่อหัดทำได้ดีแล้วอารมณ์บัญญัติเข้าไม่ได้ มันก็จะขาดลงตรงที่ผัสสะนี้เท่านั้น
    เมื่อกำหนดที่ผัสสะ เป็นต้นว่า เห็นหนอ ก็จงกำหนดให้มันหยุดชะงักลงเพียงแค่เห็นเท่านั้น ไม่ให้มันเลยไปถึงเวทนาคือเกิดทุกข์สุขและที่ว่าไม่ให้เวทนาเกิดนั้นมิได้หมายความว่า เพราะโมโหครอบงำ จึงไม่รู้เวทนา คือทุกข์สุขไม่ใช่เช่นนั้น แท้จริงเมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดพิจารณาด้วยวิปัสสนาปัญญาจนปรากฏชัดแล้ว เวทนาก็ไม่เกิดด้วยอำนาจของปัญญานั้นต่างหาก
    ผลที่ได้จากการปฏิบัติเช่นนี้ เมื่อเวทนาไม่เกิดแล้ว ตัณหาก็ไม่เกิด เมื่อตัณหาไม่เกิดแล้วอุปทานก็ไม่เกิด เมื่ออุปาทานไม่เกิดแล้วภพและชาติก็ไม่เกิด เมื่อชาติไม่เกิดแล้ว ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็ไม่เกิด เมื่อชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสไม่เกิดขึ้นแล้วอาสวะก็ไม่เกิด เมื่ออาสวะไม่เกิดอวิชชาก็ไม่เกิด จึงเป็นอันว่าผู้ปฏิบัติพ้นจากทุกข์ได้เด็ดขาดจริงจังอย่างนี้
    เพราะฉะนั้น การกำหนดให้เป็นแต่เพียงสักว่าเห็นหนอ คือกำหนดให้เห็นชัดเข้าไปว่า สภาพของจักขุประสาทนี้มันเกิดขึ้นชั่วขณะแวบหนึ่งแล้วก็ดับไป รูปารมณ์มันเกิดขึ้นชั่วขณะแวบหนึ่ง แล้วก็ดับไป อาการเห็น หรือจักขุวิญญาณจิตมันเกิดขึ้นชั่วขณะแวบหนึ่งแล้วดับไป กำหนดให้เห็นอยู่เพียงแค่นี้ ไม่ให้เวทนามันเกิดขึ้นได้ เมื่อกำหนดให้จริง ๆ อย่างนี้แล้ว ปฏิจจสมุปบาทก็ขาดลงไปได้จริง ๆ คือ ไม่หมุนเป็นวงกลมต่อไปอีก
    ตามที่ได้แสดงมาแล้วส่วนใหญ่แสดงถึงจักขุประสาทกับรูปารมณ์กระทบกันแล้วเกิดผัสสะ ซึ่งเรียกว่าจักขุสัมผัสแต่ตามสภาพที่เป็นจริงนั้น ไม่เพียงแต่รูปารมณ์อย่างเดียวเท่านั้นที่มันผ่านเข้ามา อารมณ์อื่นอีก ๕ ก็ย่อมมากระทบทวารอื่นอีก ๕ เหมือนกัน คือ โสตประสาทกับสัททารมณ์กระทบกันแล้วก็เกิดผัสสะเรียกว่า โสตสัมผัส ฆานประสาทกับคันธารมณ์กระทบกันแล้วก็เกิดผัสสะ เรียกว่า ฆานสัมผัส ชิวหาประสาทกับรสารมณ์ กระทบกันแล้ว ก็เกิดผัสสะ เรียกว่าชิวหาสัมผัส กายประสาทกับโผฏฐัพพารมณ์กระทบกันแล้วก็เกิดผัสสะ เรียกว่า กายสัมผัส ใจกับธรรมารมณ์กระทบกันแล้วก็เกิดผัสสะ เรียกว่า มโนสัมผัส
    เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องกำหนด ทุกทวาร ทุกอารมณ์ ทำนองเดียวกันกับที่กำหนดจักขุทวารและรูปารมณ์นั้น เพราะว่าคนเรานั้น อารมณ์ทั้ง ๖ มันจักต้องมีผ่านเข้ามาเสมอ ไม่ใช่แต่จะกำหนดแต่ทางตาอย่างเดียว เช่นเมื่อเสียงมากระทบหู ก็จะกำหนดให้มีความรู้สึกชัดแจ้งอยู่ว่าโสตประสาทเกิดขึ้นชั่วขณะแวบเดียวแล้วก็ดับไป สัททารมณ์เกิดขึ้นชั่วขณะแวบเดียวก็ดับไป โสตวิญญาณจิตเกิดขึ้นชั่วขณะแวบเดียวก็ดับไปอย่างนี้เป็นต้น หรือเมื่อโผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นต้น มากระทบกับกายประสาท ก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่มากระทบกายประสาทนั้นชั่วขณะแวบเดียวก็ดับไปกายประสาทเกิดขึ้นชั่วขณะแวบเดียวแล้วก็ดับไป กายวิญญาณจิต คือ ความรู้สึกการกระทบนั้นเกิดขึ้นชั่วขณะแวบหนึ่งแล้วก็ดับไป
    ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นเฝ้ารักษาทวารทั้ง ๖ อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ อย่าทันให้เวทนามันเกิดขึ้นได้ นี้เป็นการแสดงให้เห็นวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าไปตัดปฏิจจสมุปบาทครบทั้ง ๖ทวาร หรือทั้ง ๖ อารมณ์
    เมื่อผู้ปฏิบัติดำเนินมาได้ถึงชั้นนี้แล้ว ปฏิจจสมุปบาทก็ขาดสะบั้นลง ไม่หมุนต่อไปอีก กองทุกข์ทั้งมวลก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วยประการฉะนี้ สมดังบาลีที่แสดงปฏิจจสมุปบาท โดยนิโรธวาระว่า อวิชฺชาย เตวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เป็นต้น ความว่า เมื่ออวิชชาดับสังขารก็ดับ เมื่อสังขารดับวิญญาณก็ดับ เมื่อวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ เมื่อนามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ เมื่อสฬายตนะดับผัสสะก็ดับ เมื่อผัสสะดับเวทนาก็ดับ เมื่อเวทนาดับตัณหาก็ดับ เมื่อตัณหาดับอุปาทานก็ดับ เมื่ออุปาทานดับภพก็ดับ เมื่อภพดับชาติก็ดับ เมื่อชาติดับ ชราและมรณะ ซึ่งเป็นผลโดยตรงก็ดี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ซึ่งเป็นผลโดยอ้อมก็ดีย่อมดับไปโดยสิ้นเชิง กองทุกข์สิ้นทั้งมวลนั้นย่อมดับสะบั้นลงด้วยประการฉะนี้
    เป็นอันว่า มนุษย์ซึ่งเวียนว่ายตายเกิดวกวนอยู่ในสังสารวัฏโดยไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนมดไต่วนเวียนอยู่บนขอบปากถ้วยแก้วนั้น ก็เป็นอันปิดฉากละครของโลกลงอย่างเด็ดขาด ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล
    แสดงพระธรรมเทศนาในปฏิจจสมุปบาทกถาโดยสังเขปยุติลงด้วยเวลาด้วยประการฉะนี้.

 

 

 

“กุมฺภูปมํ  กายมิมํ  วิทิตฺวา
นครูปมํ  จิตฺตมิทํ  ถเกตฺวา
โยเชถ  มารํ  ปญฺญาวุเธน
ชิตญฺจ  รกฺเข  อนิเวสโน  สิยา”

 

บัณฑิตรู้ว่า  กายนี้  เปรียบด้วยหม้อดิน
พึงป้องกันจิตนี้ไว้เหมือนนคร
แล้วพึงรบกับกิเลสมารด้วยอาวุธ คือ วิปัสสนามรรคปัญญา
พึงรักษาสิ่งที่ตนชนะแล้ว และไม่ควรหยุด

 

ขุ.ธ.อฏ.๒/๓๔๙-๓๕๑    

 

 

 

 



ปรับปรุง ณ วันที่ 2022-12-27